หากกล่าวถึง “ผลไม้เพื่อสุขภาพ” แล้ว “อะโวคาโด” เป็นหนึ่งในผลไม้ที่คนรักสุขภาพนิยมรับประทานกันเป็นประจำ จนกลายเป็นผลไม้ยอดฮิต ในช่วงแรกๆ ก่อนที่จะได้รับความนิยมนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักหรือเปิดใจให้กับผลไม้ชนิดนี้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะราคาที่ค่อนข้างแพง หาซื้อยาก แต่เมื่อกระแสการดูแลสุขภาพมาแรง อีกทั้งประเทศไทยมีการปลูกอะโวคาโดมากขึ้น ทำให้ราคาถูกและหาซื้อง่าย จึงทำให้คนไทยหันมาบริโภค อะโวคาโด กันมากขึ้น ในปัจจุบัน
อะโวคาโด อาโวคาโด อาโวกาโด อโวคาโด้ (Avocado) หรือ ลูกเนย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Persea americana Mill จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE) เป็นต้นไม้พื้นเมืองของเม็กซิโกในรัฐปวยบลา (Puebla) นิยมรับประทานกันมากในแถบยุโรปและอเมริกา อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีเนื้อมันเป็นเนย ลักษณะของผลจะมีรูปร่างคล้ายสาลี่ หรือรูปไข่จนถึงรูปกลม มีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุหลากหลายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก แต่สำหรับบางคนแล้วกลับไม่ชอบรับประทานอะโวคาโดเอาเสียเลยเพราะเป็นผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน และมีไขมันสูง ผลไม้ชนิดนี้จึงถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
การปลูกอะโวคาโดในประเทศไทยเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ไปมา โดยโครงการหลวงได้เข้าไปพัฒนาพันธุ์และให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง พันธุ์ที่ส่งเสริมให้ปลูกในไทย ได้แก่ ปีเตอร์สัน(Peterson) บัคคาเนีย (Buccaneer) บูท 7 (Booth-7) และพันธุ์แฮส (Hass)
อะโวคาโด มีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย สามารถช่วยลดริ้วรอยแห่งวัยได้ดีกว่าผลไม้ชนิดอื่น ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนัก อีกทั้งยังเป็นแหล่งของกรดไขมันชนิดดี (HDL) ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก
เพราะมีคุณสมบัติในการช่วยลดไขมันเลวในหลอดเลือดได้ จึงช่วยป้องกันการสะสมของไขมันในเส้นเลือด ช่วยลดโอกาสเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและโรคหัวใจวาย ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ป้องกันหวัด โรคเลือดออกตามไรฟัน โรคปากนกกระจอก นอกจากนี้ยังมีโปรตีนสูงกว่าผลไม้
ชนิดอื่น โดยเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย มีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี
ไขมันในอะโวคาโด สามารถช่วยดูดซึมสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งเป็นตัวช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น ไลโคปีน เบต้าแคโรทีน หรือลูทีนในผักผลไม้ต่างๆ และที่สำคัญอะโวคาโดสดสามารถนำมาใช้ในเรื่องการบำรุงผิวพรรณ ช่วยให้ชุ่มชื้น เปล่งปลั่ง มีชีวิตชีวา ทั้งนี้ไม่ควรบริโภคผลดิบเพราะมีสารแทนนินในปริมาณมากและมีรสขม หากรับประทานในปริมาณมากอาจจะทำให้ปวดศีรษะได้ ดังนั้น ควรรับประทานแต่ผลสุก สำหรับผู้บริโภคบางรายอาจมีอาการแพ้อะโวคาโดได้ โดยอาจจะแพ้ในรูปของละอองเกสร หรือแพ้ภายหลังจากการรับประทานอะโวคาโดก็ได้ โดยอาการที่ปรากฏ ได้แก่ ปวดท้อง อาเจียน ผื่นคัน ลมพิษ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอกจากคุณสมบัติในการเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพของอะโวคาโดแล้ว ยังสามารถนำสารสกัดมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตร เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทยในเวทีตลาดสากล โดยปัจจุบัน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และมีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ภายใต้การดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่นไทย หรือ Thai Cosmetopoeia ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดอะโวคาโด โดยใช้ผลผลิตอะโวคาจากอำเภอเขาค้อจังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.Serum สำหรับบำรุงผิว 2.Eyecream บำรุงรอบดวงตา และ 3.Facial Mask มาสก์บำรุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระ ชะลอริ้วรอย ต้านการเกิดเม็ดสีผิว นับเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรและเป็นการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศช่วยลดการนำเข้าที่เป็นรูปธรรม โดยผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ได้รับตราสัญลักษณ์ “Thai Cosmetopoeia” จาก วว. ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์มากขึ้นและต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืนในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
เรียบเรียงข้อมูลจาก https://medthai.com https://www.bangkokbiznews.com
กองประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี