ตัวอย่างสารให้ความหวานที่ให้พลังงาน จำพวกน้ำตาลแอลกอฮอล์มีดังนี้
แมนนิทอล (Mannitol) เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นคริสตัลแข็ง สีขาว เป็นสารให้ความหวานแคลอรี่ต่ำซึ่งสามารถพบได้ตามธรรมชาติ ในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และผลไม้อีกหลายชนิด รวมทั้งเห็ดเยื่อไผ่ และสาหร่ายทะเล เมื่อรับประทานจะเพิ่มน้ำตาลในเลือดในระดับที่น้อยกว่าน้ำตาลทราย แมนนิทอลมีคุณสมบัติเด่นคือ มีรสชาติหวาน มีความหวานสัมพัทธ์ (relative sweetness) น้อยกว่าน้ำตาลทราย ละลายได้น้อยกว่าน้ำตาลทราย ดูดความชื้นน้อย มีค่า glycenmic index ต่ำกว่าน้ำตาลทราย ร่างกายจะย่อยและดูดซึมได้ช้า จึงไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดขึ้นสูงให้พลังงานเพียงครึ่งหนึ่งของน้ำตาลทราย (น้ำตาลทรายให้พลังงาน 4.0 Kcal/g, แมนนิทอลให้พลังงาน 2.1 Kcal/g) ทนต่อกรดและความร้อนได้ดีกว่าน้ำตาลไม่ทำให้ฟันผุ
นิยมใช้แมนนิทอลการในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้แทนที่น้ำตาลในอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ให้พลังงานต่ำ (low-calorie) หรือไม่มีน้ำตาล (sugar-free) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ (bakery) แยม (jam) และผสมเครื่องดื่มต่างๆ ที่ต้องการรสหวานแต่ให้พลังงานต่ำ เช่น กาแฟ น้ำนม นมถั่วเหลือง คุกกี้ ช่วยรักษาความชื้น ซึ่งทำให้อาหารเนียนนุ่ม จึงใช้ในการทำเค้ก ลูกอม มาร์ชเมลโล ช็อกโกแลต และไอศกรีม โดยสามารถช่วย ป้องกันการตกผลึกและยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้
ไซลิทอล (Xylitol) เป็นแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พบได้ในพืชส่วนใหญ่รวมถึงผลไม้และผักต่างๆ สารนี้ถูกสกัดจากต้นเบิร์ช (birch wood) เพื่อทำเป็นยา และถูกนำมาใช้เป็นสารทดแทนน้ำตาลอย่างแพร่หลาย ส่วนมากพบในหมากฝรั่ง มินต์ และลูกอมปราศจากน้ำตาลอื่นๆ ไซลิทอลถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในหูชั้นกลาง เช่น ในภาวะหูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) ในเด็กอายุน้อย และใช้เป็นสารทดแทนน้ำตาลสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
ไซลิทอลถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากบางประเภท เพื่อป้องกันอาการฟันผุและปากแห้งในบางครั้ง อาจจะผสมอยู่ในอาหารเหลวสำหรับให้ผ่านทางสายยาง เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน หากผู้ป่วยที่รับไซลิทอลในปริมาณสูงเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน (มากกว่า 3 ปี) อาจทำให้เกิดเนื้องอกได้ และทำให้เกิดอาการท้องร่วง หรือเกิดแก๊สในลำไส้ไซลิทอลอาจปลอดภัยหากใช้ในปริมาณเท่าที่พบในอาหาร และยังคงปลอดภัยเมื่อใช้เป็นยาสำหรับผู้ใหญ่ ในปริมาณไม่เกินวันละ 50 กรัม โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้ในปริมาณสูง และสารนี้อาจปลอดภัยสำหรับเด็กเมื่อใช้เป็นยาในประมาณเพียงวันละ 20 กรัม
สำหรับผู้เลี้ยงสุนัขควรพึงระวัง เนื่องจากไซลิทอลอาจเป็นพิษต่อสุนัขได้ แม้ว่าจะได้รับจากลูกอมในปริมาณค่อนข้างน้อยก็ตาม หากสุนัขรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไซลิทอลเข้าไป ควรนำไปรักษากับสัตวแพทย์โดยทันที
ซอร์บิทอล (Sorbitol) จัดเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ของน้ำตาลกลูโคสชนิดหนึ่งที่มีความหวานประมาณ 35-60% ของความหวานของน้ำตาลซูโครส และให้พลังงาน 2.6 กิโลแคลอรี่ ซึ่งเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่ร่างกายมนุษย์เผาผลาญได้ช้า พบในธรรมชาติทั้งพืชและผลไม้ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าวสาลี ข้าว แอปเปิ้ล สาลี่ ท้อ ลูกพรุน แพร์ องุ่น พลัม โดยเฉพาะผลของเมาน์เทนแอช (mountainash) หรือนานกามาโด(nanagamado) ซึ่งพบซอร์บิทอลสูงถึง 12-13% นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพบซอร์บิทอลในยาสูบ และสาหร่ายทะเลอีกด้วย โดยวิธีการผลิตซอร์บิทอลนั้นสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การสกัดจากพืช และการผลิตโดยปฏิกิริยาทางเคมี ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคคือ 0.24 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว สำหรับเพศหญิง และ 0.66 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวสำหรับเพศขาย ทั้งนี้การบริโภคซอร์บิทอลในปริมาณสูงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท้องเดิน ดังนั้นไม่ควรบริโภคในครั้งเดียวกันเกิน 50 กรัม
จากการศึกษาในผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมมักไม่เป็นอันตราย โดยผลการทดลองของกลุ่มผู้ผลิตกล่าวว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่สะสมในร่างกาย ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือเป็นผลเสียต่อร่างกาย ไม่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ไม่ทำให้เกิดโรคหรือผลข้างเคียงต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ผลิตจะกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ส่งผลเสีย แต่เพื่อความปลอดภัย ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออยู่ระหว่างการรักษาโรค เพราะมีรายงานว่าการได้รับซอร์บิทอลและแมนนิทอลในปริมาณมากอาจทำให้ท้องอืดและท้องเสียได้
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อแนะนำว่า ในแต่ละวันผู้ใหญ่ควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัมหรือเทียบเท่า 6 ช้อนชา เด็กและผู้ที่มีอายุ60 ปีขึ้นไป ควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 16 กรัมหรือเทียบเท่าน้ำตาล 4 ช้อนชาสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว กำลังใช้ยา กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมอาจเปลี่ยนไปตามสภาวะร่างกาย หากเป็นผู้ที่ชื่นชอบรับประทานของหวานหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ควรจำกัดการได้รับน้ำตาลในแต่ละวัน เลือกใช้สารให้ความหวานพลังงานต่ำ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังได้หลายโรค ทั้งนี้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นเพียงตัวเลือกที่อาจช่วยให้การควบคุมน้ำตาลและพลังงานทำได้ง่ายขึ้นแต่หากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในแต่ละวันได้ด้วยตนเอง วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้อาจไม่มีความจำเป็น
ที่มา : https://chulalongkornhospital.go.th/โดย อ.นพ.พรชัย อนิวรรตธีระ
http://www.wongkarnpat.com/ โดย ภก.สิกขวัฒน์ นักร้องคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ittm.dtam.moph.go.th สถาบันการแพทย์แผนไทย
https://hellokhunmor.com/
https://www.pobpad.com/
https://www.estevia-herb.com/
https://www.lovefitt.com/
กองประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี