การแข่งขันฟุตบอลโลก เดินทางมาถึงปีที่ 92 และเป็นครั้งที่ 22 มีการใช้ถ้วยรางวัลทั้งหมด 2 ใบ
ใบแรก คือ จูลส์ ริเมต์ ระหว่างปี 1930-1970
ใบสอง คือ ฟีฟ่า เวิลด์คัพ ตั้งแต่ปี 1974 เป็นต้นมา
ถ้วยใบแรกเริ่มต้นขึ้นด้วยชื่อ “วิคตอรี่(Victory)” หรือถ้วยแห่งชัยชนะ แต่ทั่วไปเรียกถ้วยนี้ตรงๆ ว่า World Cup และ Coupe du Monde
โทรฟี่ใบสำคัญนี้รังสรรค์จาก อเดล ลาฟลัวร์ ประติมากรคนดังชาวฝรั่งเศส
ทำจากเงินและทองหนัก 3.8 กิโลกรัม สูง 35 เซนติเมตร ทำจากเงินสเตอร์ลิ่งชุบทอง ส่วนฐานทำด้วยหินอ่อนสีขาวกับ
สีเหลือง
ถ้วยนี้ถูกส่งไปยังประเทศอุรุกวัย เจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งแรก ด้วยเรือที่ชื่อ “SS Conte Verde” ณ ท่าเรือ
วิลฟรองเช่-ซูร์-แมร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองนีซประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1930
กระทั่งปี 1946 มีมติอย่างเป็นทางการของ ฟีฟ่า ให้เปลี่ยนชื่อถ้วย วิคตอรา มาเป็น “จูลส์ ริเมต์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานฟีฟ่าคนที่ 3 ที่รับใช้วงการลูกหนังยาวนานถึง 33 ปี ในช่วงปี 1921-1954 และเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันให้มีการ
จัดฟุตบอลโลกสมัยแรก
มาในปี 1954 มีการปรับปรุงบริเวณฐานของถ้วย จากเดิมคือหินอ่อน มาเป็นหินสีฟ้า (lapis lazuli)
จุดเด่นที่จดจำก็คือ ถ้วยเป็นรูปของ “เทพธิดาแห่งชัยชนะ” หรือที่เรียกภาษากรีกโบราณว่า Nike of Samothrace และภาษาอังกฤษ คือ “The Goddess of Victory”
มีการกำหนดเอาไว้ว่า หากชาติใด ได้แชมป์โลก 3 สมัยเป็นชาติแรก จะได้ถ้วยจูลส์ ริเมต์ ถือครองเป็นกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว กระทั่งการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 9 ที่ประเทศเม็กซิโก ปี 1970 จบลงด้วยชัยชนะของ “แซมบ้า” บราซิล ทำให้พวกเขาเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 3
ฟีฟ่า ต้องจัดการสรรหาและประกวดถ้วยใหม่ขึ้นทันที
หลังจากมีผู้นำเสนอถึง 53 แบบด้วยกัน ปรากฏว่าผู้ชนะเลิศ นั่นคือ ซิลวิโอ กาซซานิก้า ประติมากรชาวอิตาเลียน
กาซซานิก้า เกิดที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อ 23 มกราคม ปี 1921 เป็นยอดนักออกแบบที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่แล้ว และเป็นที่รู้จักไปค่อนโลก หลังจากชนะเลิศการออกแบบถ้วยฟุตบอลโลก
กาซซานิก้า เคยกล่าวเอาไว้ว่า การออกแบบครั้งนี้ ผมทำขึ้นเพื่อสะท้อนถึงชัยชนะในระดับโลก เป็นความยินดีแห่งชัยชนะ เส้นรอบถ้วยใบนี้พุ่งขึ้นมาจากฐานเป็นรูปเกลียวขึ้นไปรองรับลูกโลก ซึ่งเส้นดังกล่าวจะเป็นนักกีฬาสองคนที่กำลังฉลองชัยชนะของพวกเขา
“การทำงานศิลปะเปรียบเสมือนกับการสร้างเด็กขึ้นมาหนึ่งคน แน่นอนว่า ผมไม่ได้หมายความถึงแค่ถ้วยฟุตบอลโลกเพียงถ้วยเดียว แต่หมายถึงทุกงานที่ผมได้รังสรรค์ขึ้นมา”
ถ้วยฟีฟ่า เวิลด์คัพ ใบนี้ กาซซานิก้า คิดค้นเมื่อปี 1971 ก่อนจะทำขึ้นจากทองคำ 18 กะรัต และมีนำหนัก 6.175 กิโลกรัม เริ่มใช้ครั้งแรกในฟุตบอลโลก ปี 1974 ที่ประเทศเยอรมันตะวันตก(สมัยนั้น) เป็นเจ้าภาพ และพวกเขาก็ได้แชมป์
ไปครองเป็นทีมแรก ซี่งนักบอลคนแรกที่ได้ชูถ้วยนี้ในฐานะแชมป์โลกคือ “แดร์ ไกเซอร์” ฟรานซ์ เบ๊คเคนบาวเออร์ กัปตันทีมอินทรีเหล็กนั่นเอง
......ว่ากันถึงตำนานถ้วยแล้ว “วิคตอรี่” หรือว่าโลกรู้จักในนามโทรฟี่ของ “จูลส์ ริเมต์” ใช้ในการประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของโลกลูกหนังระหว่างปี 1930-1970
แต่โทรฟี่ที่ยิ่งใหญ่ในการชิงแชมป์โลกถึง 9 สมัยได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยไป เมื่อปี 1983 ที่ นครริโอ เดอ จาเนโร
หากเราย้อนกลับไปในยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 กันยายน 1939 ไปถึง 2 กันยายน 1945 และกว่าจะมีการดวลแข้งกันอีกครั้ง ก็ต้องรอจนถึงปี 1950
ช่วงเวลา 12 ปี ถ้วยฟุตบอลโลกถูกเก็บเอาไว้ที่“กล่องรองเท้า” และเอาไว้ที่ “ใต้เตียง”!!!
ดร.อ็อตโตริโนย่ บาราสซี่ รองประธานฟีฟ่าชาวอิตาลี ตัดสินใจไปนำถ้วยแชมป์โลกออกจากธนาคาร ซึ่งตอนนั้น
ฝากไว้ที่อิตาลี ในฐานะแชมป์โลก 2 สมัยซ้อนๆ ทีมแรกของโลกในปี 1934 และ 1938
รองประธานฟีฟ่า ซึ่งมีดีกรีระดับศาสดาจารย์ดอกเตอร์วิศกรรมศาสตร์ ได้เก็บถ้วยเอาไว้ใน “กล่องรองเท้า” ของเขา และเอาไว้ที่ “ใต้เตียงนอน”
สาเหตุก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพวกนาซี ขโมยเอาไป!!!
ระหว่างที่สงครามกำลังจะจบลง เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาวงการฟุตบอลอิตาลี ปี 1945 ก่อนจะกลายเป็น ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี ในปี 1946 และดำรงค์ตำแหน่งจนถึงปี 1958
วีรกรรมครานั้น ฟีฟ่า แต่งตั้งให้เขาเป็นคณะกรรมการบริหารตลอดชีพ กระทั่งเสียชีวิตในปี 1971
.....หลังจากถ้วยบอลโลกรอดเงื้อมมือของสงครามโลกมาได้ มาในปี 1966 อังกฤษ รับหน้าเสื่อเจ้าภาพ และนำถ้วยมาตั้งแสดง ก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่ม 4 เดือน
งานดังกล่าวชื่อว่า “Sport with Stamps” จัดที่ เมโธดสิต์ เซ็นเตอร์ ฮอลล์ ภายในเวสต์มินสเตอร์
มีการทำประกันถ้วยเอาไว้ในราคาถึง 3 หมื่นปอนด์!!!!
งานเริ่มในวันที่ 19 มีนาคม แต่จากนั้นแค่วันเดียวมีข่าวร้าย.....ถ้วยหายไปอย่างลึกลับ ทั้งที่มีตำรวจและเจ้าหน้าที่ดูแลด้วยการยืนอยู่ข้างๆ ถ้วยตลอด 24 ชั่วโมง!!!
ไม่กี่วันต่อมา บุรุษลึกลับใช้ชื่อว่า “แจ๊คสัน” ได้โทรเข้ามาหา โจ เมียร์ส ประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ให้จ่ายเงิน
15,000 ปอนด์ เพื่อเป็นค่าไถ่ถ้วย ก่อนที่ตำรวจจะคุมตัวเอ๊ดเวิร์ด เบ็ตชลี่ย์ เข้ามาสอบสวน แต่ก็ยังไม่ใช่ผู้ร้ายตัวจริง
......1 สัปดาห์หลังจากถ้วยหาย ในวันที่ 27 มีนาคม ก็มีการเจอถ้วยแบบพิลึกพิลั่น
การค้นหาเป็นไปอย่างรีบเร่งและสับสน แต่ เดวิด คอร์เบตต์ พนักงานขับเรือ ได้นำ “พิคเกิลส์” สุนัขเพศผู้วัย 4 ปี
ออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะซูบาร์บาน การ์เด้น ในบูลาห์ ฮิลล์ อัปเปอร์ นอร์วู้ด ทางใต้ของมหานครลอนดอน
เจ้าพิคเกิลส์ จะวิ่งไปเห่าที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ก่อนที่ คอร์เบตต์ จะตามมาพบว่าที่โคนต้นไม้ มีการฝังห่อกระดาษแปลกๆ เอาไว้ จึงเปิดดู
ปรากฏว่าเจอถ้วยจูลส์ ริเมต์!!!
ชั่วข้ามคืน เหตุการณ์นี้ทำให้ทั้งคนทั้งสุนัขดังในชั่วข้ามคืน คอร์เบตต์ ได้รับเงินรางวัล 5,000 ปอนด์ ก่อนจะนำไปซื้อบ้านที่ลินจ์ฟิลด์ ในปีต่อมา
“พิคเกิลส์” ได้เหรียญเงินเชิดชูเกียรติจากสมาคมดูแลสุนัขแห่งชาติ (National Canine Defence League) ให้เป็น “สุนัขแห่งปี” และได้รับรางวัลเป็น “อาหาร” ฟรีตลอดปี
เรื่องราวของพิคเกิลส์ ถูกนำไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Spy with a Cold Nose พร้อมกับได้เข้าไปฉลองแชมป์ฟุตบอลโลกกับทีมชาติอังกฤษ ในปีนั้น
อย่างไรก็ตาม ในปีต่อมา พิคเคิลส์ ต้องเสียชีวิตลงอย่างน่าเศร้า เมื่อเชือกที่ล่ามคอของมันนั้น รัดตัวเอง ขณะวิ่งไล่จับแมว และร่างของเจ้าสุนัขระดับตำนานถูกฝังไว้หลังบ้านใหม่ของ คอร์เบตต์
ส่วนปลอกคอของ พิคเคิลส์ ปัจจุบันนำมาจัดแสดงไว้ที่ “พิพิธภัณฑ์ฟุตบอลแห่งชาติ” ตั้งแต่สมัยอยู่ที่เปรสตัน กระทั่งปัจจุบันมาตั้งอยู่ ณ เมืองแมนเชสเตอร์ ย่านอาร์นเดล จนถึงปัจจุบัน........
.......มาถึงปี 1970 บราซิล ผงาดคว้าแชมป์โลกได้เป็นสมัยที่ 3 ชาติแรกของโลก ทำให้ ฟีฟ่า มอบถ้วยใบนี้ให้กับขุนแข้งเซเลเซาไปครองเป็นกรรมสิทธิ์
น่าเสียดายที่ถ้วยอันยิ่งใหญ่นี้ถูกขโมยไปจากอาคารสำนักงานสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล ในนครริโอ เดอ จาเนโร
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 1983 และจากวันนั้นจนถึงวันนี้
ไม่เคยมีใครได้เห็นโทรฟี่ “จูลส์ ริเมต์” อีกเลย.............
ขณะเดียวกัน ถ้วยฟีฟ่า เวิลด์คัพ ที่ใช้ในปัจจุบัน จะไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของทีมไหน โดยทีมแชมป์จะได้ถ้วยใบนี้ไปครองไว้ 4 ปี พอมาถึงการแข่งขันครั้งต่อไป ทีมแชมป์เก่าจะได้รับถ้วยจำลองที่ทำจากทองผสมเอาไว้ประดับแทน
น่าสนใจก็คือ ตำแหน่งของ “ฐานถ้วย” ที่มีวงแหวนคาดสองเส้น มีพื้นที่ไว้สลักชื่อผู้ชนะไว้ทั้งหมด 17 ช่อง
ซึ่งทั้งหมดจะเต็มทุกช่อง เมื่อถึงปีค.ศ.2038 คาดกันว่า เมื่อถึงเวลานั้นค่อยมาตกลงกันใหม่
ว่าจะต้องออกแบบใหม่ หรือจะใช้ของเดิม!?!?!
______ บี แหลมสิงห์ ______
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี