ทุเรียน (Durian) พืชสกุลไม้พื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวงศ์ Bombacaceae มีรสชาติหวาน มัน อร่อยนุ่มละมุน มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ได้รับยกย่องว่าเป็น “ราชาผลไม้”อุดมไปด้วยสารอาหารหลากหลายและพลังงานกับค่าน้ำตาลที่สูง หากบริโภคไม่ถูกสุขลักษณะย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้
ทุเรียนมีส่วนประกอบที่เป็นไขมันดีและน้ำตาล สารเอสเธอร์ กำมะถัน แอลกอฮอล์ สารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล เช่นฟลาโวนอยด์ กรดแอสคอร์บิ๊ก และแคโรทีน สารที่กล่าวมาเป็นสารสำคัญทั้งนั้น อาทิ สารโพลีฟีนอล (Pholyphenols) ช่วยลดระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลได้ โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทองสายพันธุ์นี้อุดมสารโพลีฟีนอล และมีเส้นใยที่ช่วยลดไขมันได้ ทุเรียนมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
ทุเรียนมีประโยชน์ ช่วยให้ขับถ่ายดี ช่วยให้การหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยบำรุงสมอง ผิวพรรณ สายตา ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด และลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย
สรรพคุณทางยาของทุเรียน ราก ช่วยบรรเทาอาการไข้ ท้องร่วงใบช่วยลดความรุนแรงของโรคดีซ่าน ขับพยาธิ แผลที่เป็นหนองแห้งเร็วเปลือกรักษากลากเกลื้อน สมานแผล แก้อาการน้ำเหลืองเสียพุพอง ฝี ตานซาง
ทุเรียน เป็นผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หากต้องการกินทุเรียนให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ควรเลือกทุเรียนแบบกึ่งห่ามเพราะจะมีแป้ง และน้ำตาลที่น้อยกว่าแบบสุกงอม ซึ่งไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 พู ขนาดกลาง (หนักประมาณ 80 กรัม) และไม่ควรกินเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะหากกินครั้งละประมาณ 2-3 พู หรือ 4-6 พู ร่างกายจะรับพลังงานสูงถึง 520-780 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับกินอาหารมื้อหลัก 2 มื้อ สำหรับทุเรียนที่ผ่านกระบวนการแปรรูปต่างๆ นั้น หากบริโภคในปริมาณที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ได้รับพลังงานที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งพบ 3 ลำดับ ดังนี้ ลำดับที่ 1 ทุเรียนทอด ถุงละครึ่งกิโลกรัม ให้พลังงานสูงมากถึง 508 กิโลแคลอรี ควรแบ่งกินประมาณ 5 ครั้ง ลำดับที่ 2 ทุเรียนกวน 1 แท่ง ขนาด 300 กรัม ให้พลังงาน 320 กิโลแคลอรี และมีปริมาณน้ำตาลสูง ทั้งจากทุเรียนที่สุกง่อมรวมกับน้ำตาลที่เติมลงไปเพื่อให้จับตัวเป็นก้อนและเก็บไว้ได้นาน จึงควรแบ่งกินอย่างน้อย 2-3 ครั้ง และลำดับที่ 3 ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน 1 ถ้วยให้พลังงาน 220 กิโลแคลอรี ใน 1 วัน ไม่ควรกินเกิน 1 ถ้วย ดังนั้นหากบริโภคทุเรียนควรเลือกแบบสดที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป เพราะจะได้พลังงานจากน้ำตาล ไขมันน้อย และได้วิตามินกับสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด สามารถกินทุเรียนได้แต่ต้องปริมาณน้อยกว่าคนทั่วไป และควรออกกำลังกาย เพื่อเผาผลาญน้ำตาล จากการกินทุเรียนออกไป เช่น เดินอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง กินผลไม้ที่มีน้ำและหวานน้อยควบคู่กัน เช่น มังคุด แตงโม เพราะมังคุดและแตงโมมีฤทธิ์เย็น ส่วนทุเรียนมีฤทธิ์ร้อน จึงสามารถกินคู่กันได้ และควรหลีกเลี่ยง การกินผลไม้ที่มีรสชาติหวานพร้อมกัน เช่น มะม่วงสุกเงาะ ลิ้นจี่ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลสูงเกินไป (นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย)
ทุเรียนมีกำมะถัน (ซัลเฟอร์) เช่น สาร diethyl disulfide ในปริมาณสูง ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ aldehyde dehydrogenase ในตับที่ทำหน้าที่สลายสารแอลดีไฮด์จากการเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกาย ผู้ที่กินทุเรียนในปริมาณมากร่วมกับแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงจึงอาจได้รับพิษจากสารแอลดีไฮด์ที่เพิ่มสูงขึ้นในเลือด โดยอาการพิษจากแอลดีไฮด์ที่อาจพบได้ คือหน้าแดง ปวดศีรษะ และหัวใจเต้นเร็วขึ้นไม่เป็นจังหวะ
ทุเรียนจะเป็นผลไม้ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายของเรา หากเรารับประทานให้พอดี ในปริมาณที่เหมาะสม และถูกวิธี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ https://www.thaiheartfound.org/
สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย https://multimedia.anamai.moph.go.th/
โรงพยาบาลเพชรเวช https://www.petcharavejhospital.com/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี