อาจจะดูช้าไปเล็กน้อยหากจะพูดถึงการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือหางโจวเกมส์ แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันดังกล่าว ผมก็ขออนุญาตเล่าบรรยากาศ ประสบการณ์ที่ผมได้รับมาเล่าสู่กันฟัง
ปกติสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียจะจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ทุก 4 ปี เช่น ครั้งที่ 18 ปี ค.ศ.2018 ที่กรุงจาการ์ตา, เมืองปาเลมบัง อินโดนีเซีย, ครั้งที่ 20 ปี 2026 ที่เมืองนาโกยา ญี่ปุ่น ส่วนการแข่งขันครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ควรจะจัดในปี 2022 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงเลื่อนมาจัดในปี 2023 แทน
ประเทศจีน เจ้าภาพ ได้คัดเลือกเมืองที่มีศักยภาพและเป็นเมืองที่ต้องการพัฒนา เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬานานาชาติ เช่น เอเชี่ยนเกมส์ เพื่อไม่ให้เป็นการ
ลงทุนที่สูญเปล่า หลังจากที่เคยจัดที่กรุงปักกิ่ง และนครกวางโจวมาแล้ว นครหางโจวได้รับการปรับปรุง พัฒนา ในด้านสาธารณูปโภค การขนส่ง เทคโนโลยี ฯลฯ เป็นอย่างมาก มีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ มีการสร้างสนามกีฬาต่างๆ มากมาย สร้างหมู่บ้านนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้เป็นที่พัก หลังการแข่งขันก็ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรในหางโจวต่อไป รวมทั้งการสร้างสนามกีฬาในเมืองใกล้เคียงเพื่อเป็นการพัฒนาไปด้วยในตัว ทางผู้บริหารเมืองหางโจวเองก็มีแผนจะเสนอจัดกีฬาโอลิมปิกต่อไปอีกด้วย สังเกตจากเมื่อเข้าคอนโดที่พักในหมู่บ้านแล้ว ในแต่ละวันจะเห็นและได้ยินเสียงรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านใกล้ๆ หมู่บ้าน วันละสิบกว่าเที่ยว แสดงถึงการเป็นศูนย์กลางความเจริญได้อย่างดี
ทำให้สะท้อนถึงเรื่องการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬานานาชาติของประเทศไทย ที่ไม่ค่อยได้คำนึงถึงความพร้อม, สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเมืองเจ้าภาพ เพื่อที่จะพัฒนาให้มีความเจริญที่ยั่งยืนต่อไป ไม่ได้มีแผนการล่วงหน้าว่า ถ้าหากประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา จะเลือกจัดที่เมืองใดที่มีศักยภาพและความเหมาะสมจบการแข่งขันแล้วจะมีแนวทางการใช้, ดูแลรักษา สนามกีฬาที่สร้างขึ้นมาอย่างไร ส่วนใหญ่จะพิจารณากันสั้นๆ ก่อนกำหนดการแข่งขันเพียงไม่กี่ปี จึงทำให้การแข่งขันออกมาดูไม่พร้อม ขาดการดูแลรักษาสนามกีฬาหลังการแข่งขัน ไม่คุ้มกับงบประมาณที่ใช้ไป มหกรรมกีฬาที่ใกล้ตัวที่สุด คือซีเกมส์ ที่จัดทุก 2 ปี ประเทศไทยต้องได้เป็นเจ้าภาพในทุกช่วงประมาณ 10 ปี แน่นอน จึงสมควรวางแผนล่วงหน้าไว้ได้เลย
ผมได้รับคัดเลือกจากสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเชียให้ทำหน้าที่เป็น Medical Delegate หรือผู้แทนด้านการแพทย์ของการแข่งขันครั้งนี้ กำหนดการแข่งขันอยู่ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคม 2566 แต่เนื่องจากช่วงการแข่งขันตรงกับการแข่งขันคัดเลือกวอลเลย์บอลไปแข่งกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส สหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเชียจึงขอให้เจ้าภาพจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลชาย ก่อนการแข่งขันปกติ 1 สัปดาห์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วัน ตามด้วยการแข่งขันประเภทหญิง ทำให้การแข่งขันวอลเลย์บอลในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ นานกว่าปกติ นานกว่ากีฬาประเภทอื่น ผมจึงต้องไปอยู่ที่หางโจว นานถึง 23 วัน ถ้ามีลูกเล็ก!! กลับมาลูกคงจำไม่ได้
โดยทั่วไป การเข้าประเทศจีนจะต้องขอวีซ่า แต่ในช่วงการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ เจ้าภาพจะออกบัตรพิเศษให้บัตรนี้จะมีข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเรา รวมทั้งภาพถ่าย เปรียบเสมือนคล้ายวีซ่าให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เมื่อเดินทางถึงสนามบิน ก็ยื่นบัตรดังกล่าวเพื่อยืนยันตัวกับเจ้าหน้าที่ ก็จะได้รับสายคล้องคอมาห้อยบัตร บัตรพิเศษก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นบัตรประจำตัวของเรา ที่ต้องใช้ไปตลอดการแข่งขันจนชิน บางคนกลับประเทศไทยแล้วยังเผลอคล้องบัตร ก็ยังมี
ที่สนามบิน จะมีเจ้าหน้าที่ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่พูดภาษาอังกฤษ (สำเนียงจีน ทำให้ฟังลำบากสำหรับเราที่คุ้นกับภาษาอังกฤษสำเนียงไทย) มาต้อนรับ พาไปขึ้นรถบัสไปหมู่บ้านเจ้าหน้าที่ ที่จัดให้เป็นที่พักตลอดการแข่งขัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 นาที ก็ถึงหมู่บ้าน ตลอดทางก็ชื่นชมความเจริญของเมืองหางโจวที่ได้รับการพัฒนามาก่อน และที่ได้รับหลังการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน บางช่วงของถนน, ของทางด่วน จะมีช่องทางด่วนเอเชี่ยนเกมส์ รถที่มีบัตรผ่านเท่านั้นจึงใช้ช่องทางนี้ได้ ทำให้การเดินทางของนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ไม่ติดขัด มีต่อนะครับ
โดย นพ.เรืองศักดิ์ ศิริผล
สมาคมกีฬาเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี