สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสดีที่ได้ไปเยี่ยมเยียนมิตรสหายเก่าที่ฮ่องกง ในฐานะเพื่อนหมอที่ได้ทำงานด้วยกันในกีฬา world transplant game (กีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลก) ที่ผมได้เคยมีโอกาสไปเป็นแพทย์ดูแลนักกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะที่เคยได้เล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้เมื่อประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา จุดประสงค์หลักที่ไปเยี่ยมคุณหมอ Kao Foon Chau (KFC) คือไปดูโปรแกรมการออกกำลังกายในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มาฟอกเลือดหรือมาล้างไตที่โรงพยาบาลและการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนไตไปแล้ว หมอ KFC เป็นหมอที่เชี่ยวชาญทางด้านดูแลคนไข้โรคไต ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาล Queen Elizabeth ที่ฮ่องกง ซึ่งโรงพยาบาลนี้มีชื่อเสียงมากในด้านการส่งเสริมการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคไตเรื้อรังและในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตไปแล้ว ถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งของฮ่องกงได้เลยทีเดียว
ถามว่าทำไมต้องมาออกกำลังกายกันในขณะฟอกไต คำตอบก็คือ การออกกำลังกายในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตนั้นมีประโยชน์อย่างมากครับ มีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์แล้วว่าการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคไตนั้นสามารถทำให้ผู้ที่เป็นโรคไตมีความฟิตหรือสมรรถภาพของร่างกายที่มากขึ้น สามารถทำให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแอนั้นมีความแข็งแรงได้มากขึ้น คือต้องเรียนให้ผู้อ่านทางบ้านทราบครับว่าเวลาคนไข้ที่เป็นโรคไตนั้น เขาไม่ได้มีแค่ปัญหาเรื่องการขับถ่ายของเสียออกจากไตอย่างเดียวเขาจะมีปัญหาในระบบอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น เรื่องกล้ามเนื้อไม่ค่อยมีแรงและมีการเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุของความอ่อนแอและความเปราะบางของทั้งร่างกาย (Frailty) ยิ่งอ่อนแออ่อนแรงก็ยิ่งไม่ออกกำลังกาย และพอยิ่งไม่ออกกำลังกายก็ยิ่งอ่อนแอลง วงเวียนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะจะช่วยลดปัญหาเรื่องความอ่อนแรงและความเปราะบางของสภาพร่างกายลงไปได้
ผู้ป่วยโรคไตวายส่วนหนึ่งก็จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุนั้นเมื่อมีร่างกายที่อ่อนแอลงมีการทรงตัวที่แย่ลง มีกระดูกที่บางลง ก็เกิดความเสี่ยงในการหกล้มและอาจจะทำให้กระดูกหักได้ การออกกำลังกายก็ช่วยป้องกันการล้มได้เนื่องจากเป็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตัว กล้ามเนื้อขา ฝึกการทรงตัว จึงสามารถลดอัตราการล้มได้
โดยธรรมชาติของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายนั้น การทำงานของไตจะค่อยๆ เสื่อมลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป จากงานวิจัยพบว่าในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ค่าเฉลี่ยของการเสื่อมของค่าไต (eGFR) จะอยู่ที่ประมาณ 9% ต่อปี แต่ถ้ามีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือมีการออกกำลังกายประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ การเสื่อมของค่าไตจะอยู่ที่ประมาณ 6% ต่อปี ฉะนั้นการออกกำลังกายสามารถชะลออัตราการเสื่อมลงของไตได้ด้วย
ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยโรคไตมักจะมีอาการปวดขาในเวลากลางคืน (restless leg syndrome) เราพบว่าการออกกำลังกายสามารถทำให้ลดอาการปวดขาตอนกลางคืนของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ด้วย และในประเด็นสำคัญคือ การออกกำลังกายจะทำให้อายุยืนยาวขึ้นหรือไม่ในคนไข้กลุ่มนี้ งานวิจัยในผู้ป่วยโรคไตประมาณ 5,000 คน จากประเทศในกลุ่มยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น พบว่าผู้ป่วยโรคไตที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ มีอัตราการตายต่ำกว่าผู้ป่วยโรคไตที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย นั่นหมายความว่าการออกกำลังกายก็ทำให้ผู้ป่วยโรคไตมีอายุยืนยาวขึ้นได้ด้วย
จะเห็นว่าการออกกำลังกายในผู้ป่วยกลุ่มนี้นั้นมีประโยชน์อย่างมากมายและเป็นที่รับรู้และยอมรับกันในวงการแพทย์ แต่ในขณะที่ประเทศไทยนั้นการให้คนไข้ที่มาทำการฟอกไตที่โรงพยาบาลได้มีการออกกำลังกายนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้ทำกัน แม้กระทั่งโรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครก็ไม่ได้ให้การส่งเสริมการออกกำลังกายในขณะที่ผู้ป่วยมารับการฟอกไต ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าเสียดายและเสียโอกาสสำหรับคนไข้โรคไตของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด แล้วโอกาสต่อไปผมจะขอกล่าวถึงสาเหตุและอุปสรรค ที่ทำไมคนไข้ไตวายถึงไม่ค่อยได้รับการบริการทางด้านการออกกำลังกาย รวมไปถึงหลักการคร่าวๆ ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคไต ทั้งที่ทำเองที่บ้านและในขณะที่ทำการฟอกไตที่โรงพยาบาลว่าจะประเมินผู้ป่วยอย่างไร ใครเหมาะสมใครไม่เหมาะสมในการออกกำลังกาย ออกกำลังกายอะไรดี ออกมากแค่ไหน รวมไปถึงการออกกำลังกาย หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการเปลี่ยนไตหรือเปลี่ยนอวัยวะอื่นๆ ไปแล้ว
โดย รศ.ดร.นพ.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี