เอกชนชี้ส่งออกกุ้งไทยยังไม่ฟื้นตัว คาดครึ่งปีแรกทำได้แค่ 8-9หมื่นตันจากเป้าแสนตันเหตุผลผลิตน้อย เกษตรกรยังผวาโรคอีเอ็มเอสไม่กล้าเลี้ยงเต็มที่ เอกชนต้องปรับตัวหันมาส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่ใช้กุ้งเป็นวัตถุดิบน้อยและเพิ่มมูลค่าสินค้า
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยว่าลดลงไปมากและสถานการณ์ไม่ค่อยดีขาดแคลนวัตถุดิบในการส่งออก โดย 2 เดือนแรกปี(มกราคม-พฤษภาคม 2557) ปริมาณการส่งออกลดลงไปถึง 55% เหลือเพียง 8,588 ตันคิดเป็นมูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 32% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มปริมาณการเลี้ยงกุ้งเพราะเกษตรกรยังไม่มั่นใจหลังจากเกิดโรคอีเอ็มเอส ระบาดในปี 2012 โดยขณะนี้ประเทศไทยเองก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้
การส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยในครึ่งปีแรก น่าจะมีเพียง 80,000 -90,000 ตัน และคงจะไม่ถึง 100,000 ตันตามที่คาดการณ์ เพราะไม่มีกุ้งมากพอที่จะป้อนให้กับโรงงานซึ่งต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำเข้ากุ้งมาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป โดยนำเข้ามาจากอินเดีย ขณะที่กรมประมงต้องเร่งนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งและนำมาเพาะพันธุ์ใหม่ คาดว่าน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในปีหน้า
“ 2 เดือนแรกของปี นำเข้ากุ้ง 2,800 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้าเพียงกว่า 1,000 ตัน และทั้งปีมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากอินเดียและเอกวาดอร์มากกว่า 10,000 ตัน มาป้อนโรงงานแปรรูป เพื่อการส่งออก”
อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกจะประเมินสถานการณ์ส่งออกกุ้งแช่แข็งครั้งอีกครั้งในไตรมาส 3 ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่การส่งออกไม่ได้ดีอย่างที่คาดเพราะไทยยังแก้ปัญหาโรคอีเอ็มเอสไม่ได้แบบเบ็ดเสร็จ ยังมีปัญหาโรคตัวแดงจุดขาวอีก ทำให้เกษตรกรยิ่งไม่กล้าลงทุนซึ่งคาดการณ์ว่า ผลผลิตกุ้งของไทยน่าจะผลิตได้เพียง 250,000 ตัน
ขณะเดียวกันคาดว่าปีนี้ปริมาณการส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยจะเท่ากับปีก่อน แต่มูลค่าการส่งออกน่าจะลดลง 10% โดยมีเหตุมาจากการที่มูลค่าการส่งออกลดลง จากราคากุ้งในตลาดลดลงมาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยกุ้งขนาด 100 ตัวต่อกก. ราคาปีก่อนอยู่ที่ 200 บาทต่อกก. แต่ขณะนี้ ราคาลงมาที่ 150 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงมาอีกก่อนช่วงสงกรานต์ราคาอยู่ที่ 170 -180 บาทต่อกก. และช่วงที่กุ้งไทยราคาแพง ประกอบกับไม่มีสินค้าส่งให้ทำให้ลูกค้าหนีไปซื้อจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม
“เอกชนและรัฐบาลคงต้องมาคิดและปรับเปลี่ยนแนวทางการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนจะกลับไปเลี้ยงกุ้งได้ปีละกว่า 500,000 ตันคงยาก การเลี้ยงกุ้งมากเกินไปก็จะก่อปัญหาเรื่องโรคระบาด และลูกค้าก็จะหนีไปซื้อที่อื่น ยิ่งเมื่อเราเจอปัญหาเรื่องโรคระบาดไม่มีผลผลิต ราคาแพงมาก เขาก็ไปซื้อจากที่อื่น ปริมาณการเลี้ยงที่เหมาะสม ของไทยน่าจะอยู่ที่ 400,000 ตันต่อปี”
ขณะที่ผู้ส่งออกก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการส่งออกเป็นอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่ใช้กุ้งน้อยลงและพยายามเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยส่งออกเป็นอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี2012 ไทยสส่งออกได้สูงสุดถึง 350,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 110,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ผู้ส่งออกกุ้งและอาหารทะเลแช่แข็งอยู่ระหว่างการเคลียร์เรื่องที่ถูกกล่าวหาจากทางการสหรัฐ เรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานเถื่อน เพื่อไม่ให้ใช้เป็นข้ออ้างกีดกันการส่งออก รวมทั้งหาทางเจรจากับรัฐบาลอียู ไม่ให้นำเรื่องแรงงาน เข้ามาเป็นเงื่อนไขในการเจรจาทำข้อตกลงเอฟทีเอ ไทย –อียู
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี