วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
บทความพิเศษ : ทำไมต้องเป็นคลองไทยแนว9A

บทความพิเศษ : ทำไมต้องเป็นคลองไทยแนว9A

วันพฤหัสบดี ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561, 12.50 น.
Tag : บทความพิเศษ คลองไทยแนว9A
  •  

4 ต.ค.61  ในอดีตเส้นทางการเดินทางเพื่อค้าขายระหว่างคาบมหาสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทย นักเดินเรือจะต้องนำเรือแล่นผ่านช่องแคบมะละกา ต้องใช้เวลาการเดินทางที่ยาวนานสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ทั้งยังต้องเสี่ยงต่อการที่จะถูกดักปล้นจากโจรสลัดซึ่งชุกชุมมากในช่องแคบมะละกา นักเดินเรือเพื่อการค้าขายระหว่างสองคาบมหาสมุทร ได้พยายามใช้เส้นทางลัดผ่านภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานในหลายเส้นทาง เช่น การล่องเรือในเส้นทางจากคาบมหาสมุทรอินเดียหรือฝั่งอันดามัน เข้าสู่ปากแม่น้ำตรังที่อำเภอกันตัง สู่อำเภอเมืองตรัง ผ่านอำเภอห้วยยอดจังหวัดตรัง สู่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ต่อจากนั้นจะใช้เส้นทางบนบกโดยใช้ช้างลากเรือพร้อมสัมภาระลงสู่แม่น้ำปากพนัง เพื่อล่องเรือไปสู่คาบมหาสมุทรแปซิฟิกหรือฝั่งอ่าวไทย ที่ปากแม่น้ำปากพนัง เพื่อล่องเรือไปสู่ประเทศต่างๆในมหาสมุทรแปซิฟิก อาทิ ประเทศกัมพูชา เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น 


ความพยายามที่จะขุดคลองเพื่อเชื่อมคาบมหาสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทย สำหรับใช้เป็นเส้นทางลัดในการเดินเรือเพื่อประโยชน์ด้านการค้าขาย หรือด้านการทหารได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองในการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป ก็ได้มีแนวคิดที่จะขุดคลองเชื่อมคาบสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2220  ล่วงมาถึงปัจจุบันตก 342 ปี หลังจากนั้นก็ได้มีการศึกษาทั้งในส่วนของประเทศไทยเอง และการขอเข้ามาศึกษาเพื่อหาความเป็นไปได้ของประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่อง ได้การศึกษาสำรวจหลายเส้นทาง แต่เส้นทางที่มีความเป็นไปได้และถูกกล่าวถึงมากที่สุด  4 เส้นทางคือ

แนว 2A เป็นแนวที่เรียกว่าคอคอดกระซึ่งเป็นแนวได้ศึกษาในระยะต้นๆ และมีการกล่าวถึงมากที่สุด โดยจะขุดเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามันระหว่างจังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร  หากเป็นในอดีตที่ประเทศไทยยังไม่สูญเสียดินแดนภาคใต้ฝั่งตะวันตก คือ ทวาย มะริด และตะนาวศรี ให้กับประเทศอังกฤษในยุคการล่าอาณานิคม (ซึ่งดินแดนเหล่านนี้ต่อมาก็ตกเป็นของพม่าหลังจากพม่าได้รับเอกราช)  แนว 2A จะเป็นแนวที่เหมาะสมที่สุดเพราะระยะทางสั้นที่สุด แต่ในภาวะปัจจุบันหลังประเทศไทยต้องสูญเสียทวาย มะริด และตะนาวศรี

หากขุดคลองในแนวนี้ประเทศที่จะได้ประโยชน์และสามารถต่อรองกับประเทศไทยได้มากที่สุดคือประเทศพม่าเนื่องจากพื้นที่ทับซ้อนในทะเล พม่าสามารถอ้างสิทธิและต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ ที่ประเทศไทยในฐานะผู้ลงทุนอาจจะเสียเปรียบได้ ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่เนินเขา ทำให้ยุ่งยากในการจัดการ  และที่สำคัญ คือไม่สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสองฝั่งคลองได้อย่างเต็มศักยภาพ

แนว 5A เป็นแนวที่จะขุดเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามันระหว่างจังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล แต่ก็มีสภาพปัญหาเช่นเดียวกับแนว 2A หากเป็นในอดีตที่ประเทศไทยยังไม่สูญเสียดินแดนภาคใต้ในแหลมมะลายู  ให้กับประเทศอังกฤษในยุคการล่าอาณานิคม  (ดินแดนเหล่านี้ต่อมาก็ตกเป็นของมาเลเซียหลังจากมาเลเซียได้รับเอกราช)  แนว 5A แม้จะเป็นแนวที่มีระยะทางสั้น หากขุดคลองในแนวนี้ประเทศที่จะได้ประโยชน์และสามารถต่อรองกับประเทศไทยได้มากที่สุดคือประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีพื้นที่ทับซ้อนในทะเลซึ่งมาเลเซียสามารถอ้างสิทธิและต่อรองผลประโยชน์ต่างๆได้ เช่นเดียวกันแนว  2A

แนว 7A เป็นแนวที่จะขุดเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามันระหว่างจังหวัดสงขลาและจังหวัดตรัง แต่ก็มีสภาพปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่เนินเขา ทำให้ยุ่งยากในการจัดการ และที่สำคัญคือไม่สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสองฝั่งคลองได้อย่างเต็มศักยภาพ

แนว 9A เป็นแนวคลองไทยที่เหมาะสมที่สุดในยุคปัจจุบัน  ประกอบกับการที่สมาชิกวุฒิสภาได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังในระหว่างปี  พ.ศ. 2544-2547 และสมาชิกวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ในปี พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับไปแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการศึกษาเชิงลึกให้รอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ ว่าจะดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร แต่ไม่ปรากฎว่ามีรัฐบาลใดได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาศึกษาคงทิ้งไว้ร่วม 12 ปี 

กระทั่งปี พ.ศ.2558 ภาคเอกชนนำโดยพลเอกพงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ได้ทำการสำรวจคลองไทยแนว 9A ใหม่ โดยกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่า ต้องหลีกเลี่ยงแหล่งชุมชนสำคัญ แหล่งศิลปวัฒนธรรม พื้นที่อนุรักษ์ และโครงการพระราชดำริ แนวเส้นทางของคลองไทย 9A ปัจจุบันจึงไม่ตัดตรงตามแนวของสมาชิกวุฒิสภา 

แนวเส้นทางของคลองไทย  9A ที่สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนาเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเริ่มในทะเลฝั่งอันดามันระหว่างเกาะลันตากับเกาะไหจังหวัดกระบี่ เข้าสู่ปากอ่าวระหว่างบ้านแหลมไทร ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กับบ้านบ่อม่วง ตำบลทรายขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ขึ้นฝั่งที่ปากคลองกะลาเส ตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ผ่านตำบลวังมะปราง อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง เข้าสู่ตำบลวังคีรี ตำบลบางดี ตำบลหนองช้างแล่น อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ผ่านตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เข้าสู่ตำบลน้ำตก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผ่านตำบลควนหนองหงส์ ตำบลเขาพระทอง ตำบลท่าเสม็ด ตำบลเคร็ง ของอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านตำบลควนชลิด อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ออกสู่ทะเลฝั่งอ่าวไทยที่ตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  รวมระยะทางทั้งสิ้น 135 กิโลเมตร ความกว้างของคลอง 400 เมตร ระดับน้ำลึก 30 เมตร

หมายเหตุ  : แนวเส้นทางนี้เป็นการตีเส้นและกำหนดพิกัดทางอากาศอาจมีความคลาดเคลื่อนบ้าง เมื่อมีการศึกษาถึงขั้นการสำรวจออกแบบแนวเส้นทางจึงจะมีความถูกต้อง

จุดเด่นของคลองไทยแนว  9A คือจะไม่ผ่านพื้นที่ที่มีความสำคัญดังกล่าวข้างต้น พื้นที่แนวสองฝั่งคลองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้ตลอดแนว ที่สำคัญพื้นที่ทั้งบนบกและในทะเลอยู่ในอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย ประเทศอื่นๆไม่สามารถอ้างสิทธิประโยชน์ใดๆได้  มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเลน้อยที่สุด เป็นแนวเชื่อมต่อเส้นทางเดินเรือระหว่างสองคาบมหาสมุทรที่ตรงที่สุด  หากพิจารณาพิกัดของแนวคลองไทย  9A ในแผนที่โลก จะพบว่าเป็นศูนย์กลางทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่รายล้อมรอบภูมิภาค

หากพิจารณาจุดเด่นของแนวเส้นทางคลองไทย  9A พบว่าปากคลองไทยฝั่งอันดามันเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สามารถเชื่อมต่อกับโลกฝั่งตะวันตกตั้งแต่พม่า ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน แถบตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา ตลอดแนวชายฝั่งอันดามันสามารถพัฒนาเป็นท่าเรือขนาดใหญ่เพิ่มศักยภาพการขนส่งระบบโลจิสติกส์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรกว่าสี่พันล้านคน นอกจากนี้ยังสามารถตั้งโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่เนื่องจากมีน้ำมันดิบทั้งในตะวันออกกลางและในอ่าวไทย ประเทศไทยจะสามารถขายน้ำมันได้เป็นลำดับต้นๆของโลก และจะสามารถกำหนดราคากลางน้ำมันในภูมิภาคได้ 

ปากคลองไทยฝั่งอ่าวไทยเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สามารถเชื่อมต่อกับโลกฝั่งตะวันออกตั้งแต่ประเทศกัมพูชา เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น ตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยสามารถพัฒนาเป็นท่าเรือขนาดใหญ่เพิ่มศักยภาพการขนส่งระบบโลจิสติกส์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรโลก นอกจากนี้ยังเหมาสมที่จะเป็นแหล่งรวมผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิดในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าด้านการเกษตรและประมงเพื่อการส่งออก และสามารถพัฒนาเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตร รวมถึงการกำหนดราคากลางสินค้าเกษตรในภูมิภาคได้

พื้นที่แนวกลางคลอง คือบริเวณอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอห้วยยอด และอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งทางบกสามารถพัฒนาได้ทั้งระบบราง และระบบถนน เป็นชุมทางการขนส่งเพื่อเชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจต่างๆทั้งแนวปากคลองอ่าวไทยและอันดามัน และท่าเรือสำคัญทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน พื้นที่แนวกลางคลองเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะสร้างสนามบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่เมืองสำคัญต่างๆทั่วโลก นอกจากนี้พื้นที่แนวกลางคลองยังเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การเงิน และการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก หลายพื้นที่สามารถพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่พักสำหรับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว หรือบุคลากรในระดับต่างๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ทำไม? จึงต้องเป็นคลองไทยแนว 9A กล่าวโดยสรุปคลองไทยไม่ใช่เป็นเพียงเส้นทางให้เรือผ่านเท่านั้น แต่คลองไทยจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการเชื่อมคามมหาสมุทร คลองไทยจะเป็นที่มาของธุรกิจต่อเนื่องทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมและประมง การสร้างคลองไทยแนว 9A เปรียบเสมือนการสร้างถนนใหญ่ตัดผ่านพื้นที่ สามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศชาติและประชาชน คลองไทยจะเป็นมรดกทางเศรษฐกิจสำคัญที่จะฝากไว้ให้ลูกหลาน ต่อไป

โดย อ.ทัศชัย อินทร์วิเศษ นายกสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนาสาขาจังหวัดตรัง

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • บทความพิเศษ : SME ไทยต้องพร้อมแข่งขันในเวทีโลก! บทความพิเศษ : SME ไทยต้องพร้อมแข่งขันในเวทีโลก!
  • บทความพิเศษ : นายกสืบสันดาน  นิติกรรมอำพราง หลบภาษี? บทความพิเศษ : นายกสืบสันดาน นิติกรรมอำพราง หลบภาษี?
  • บทความพิเศษ : เด็กเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์  สวนทางนโยบายมีลูกเพื่อชาติ บทความพิเศษ : เด็กเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์ สวนทางนโยบายมีลูกเพื่อชาติ
  • บทความพิเศษ : ส่องการศึกษาไทย  ในยุคที่เด็กเกิดน้อย บทความพิเศษ : ส่องการศึกษาไทย ในยุคที่เด็กเกิดน้อย
  • บทความพิเศษ : ‘Climate Change’  โอกาส-ความเสี่ยง‘ตลาดทุน’ บทความพิเศษ : ‘Climate Change’ โอกาส-ความเสี่ยง‘ตลาดทุน’
  • บทความพิเศษ : ‘ประชัย’ออกโรงจี้‘แบงก์ชาติ’คุมค่าเงินบาท ชี้อย่างน้อยต้อง37บาทต่อดอลลาร์ บทความพิเศษ : ‘ประชัย’ออกโรงจี้‘แบงก์ชาติ’คุมค่าเงินบาท ชี้อย่างน้อยต้อง37บาทต่อดอลลาร์
  •  

Breaking News

เริ่มแล้ว!!! การแข่งขันเรือใบ Trat Regatta 2025 ระดับนานาชาติครั้งแรกในจังหวัดตราด

'โฆษก​ มท.'แจงแล้ว! ​ปมเรียก​สรรพนาม'คุณลูกค้า'แทน'คุณลุง​-​คุณป้า'

ด่วน!เปิดชื่อ 55 สว. เรียกรับทราบข้อหาปม'คดีฮั้ว' แบ่งเป็น 3 ลอต

ชั้น 14 ส่อวุ่นอีก!!! 'รพ.ราชทัณฑ์'เล็งฟ้องศาลเพิกถอนมติ'แพทยสภา'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved