ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ที่ให้กลุ่มการเมืองยื่นจดแจ้งพรรคการเมือง ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย กกต. ได้ประกาศ "ดีเดย์" เปิดให้กลุ่มการเมืองต่างๆ เข้ามายื่นขอการแจ้งพรรคการเมืองในระหว่างวันที่ 2 – 31 มี.ค.61
โดยผู้ที่จะยื่นคำขอตั้งพรรคการเมืองจะต้องเตรียมเอกสารทั้งหมด 7 รายการ คือ 1.คำขอแจ้งการเตรียมการจัดไตั้งพรรคการเมือง 2.บัญชีรายชื่อผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการ 3.หนังสือแสดงเจตจำนง เป็นผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้ง 4.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้งการเตรียมการฯ ทุกคน 5.ชื่อ ชื่อย่อของพรรคการเมืองทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 6.ภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองเป็นภาพสี ขนาด 4 คูณ 4 นิ้ว และ 7.แผ่นซีดีข้อมูล ทะเบียนบ้านของผู้ร่วมจัดตั้งพรรค
แน่นอนว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ครั้งนี้ หลายฝ่ายต่างจับจ้องว่า จะมีใครมายื่นเจตจำนงค์ตั้งพรรคกันบ้างหรือไม่
เพราะก่อนหน้านี้ มีหลายคน หลายกลุ่ม พากันออกตัวแรงว่าจะจัดตั้งพรรคขึ้นมาอย่างแน่นอน
บางกลุ่มก็มาจากกลุ่มพรรคการเมืองเดิมที่ถูกยุบไป บางกลุ่มก็มาจากกลุ่มผู้สนับสนุนให้รัฐบาล คสช. และกลุ่มที่มาจากพรรคการเมืองเดิมมารวมกลุ่มกัน
ล่าสุด นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้เข้ามาเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ กกต. เพื่อตรวจสอบเอกสารเพื่อเตรียมความพร้อม ในการยื่นจดจองพรรคการเมือง ในวันที่ 2 มี.ค.นี้ โดยใช้ชื่อในสังกัดพรรค "สังคมประชาธิปไตยประชาชน" หรือ สปป. แต่ทั้งนี้ก็ได้อุบไว้ก่อนว่าใครจะขึ้นมานั่งเป็นหัวหน้าพรรค
ทั้งนี้ พรรคการเมืองใหม่ที่คนให้ความสนใจค่อนข้างมาก คงหนีไม่พ้นพรรค "พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ที่มาจากกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
โดยนาทีสิ่งที่จะต้องจับตามองกันต่อคือ "ใครจะเป็นหัวหน้าพรรค" ให้กับ กปปส. เพราะ "ลุงกำนัน" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หัวเรือใหญ่ของ กปปส. ได้ประกาศเอาไว้ชัดตั้งแต่แรกว่า จะรับหน้าเสื่อเป็นเพียงสมาชิกพรรคเท่านั้น จะไม่รับตำแหน่งอื่นใดๆ ทั้งสิ้น และจะไม่ลง ส.ส. ไม่เป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่มีตำแหน่งใน ครม. และรัฐบาล
แต่มีสิ่งเดียวที่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็คือ "จุดยืน" เรื่องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งรอบหน้า
พรรคต่อไปที่น่าจับตามองอีกหนึ่งพรรค และคาดว่าจะมาเป็น "พรรคทหาร" สนับสนุน "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ ก็คือ "พรรคพลังชาติไทย" ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองดังกล่าวเพื่อสนับสนุน คสช.
แม้ก่อนหน้านี้ พล.ต.ทรงกลด จะออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่า จะไม่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองใดๆ ทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม แต่ท้ายที่สุดต้องมาดูกันว่า พล.ต.ทรงกลด จะออกมาเปิดตัวในวันที่ 2 มีนาคมนี้ หรือไม่
อีกพรรคการเมืองหนึ่งที่น่าจับตา และก่อนหน้านี้ได้สร้างเสียงฮือฮาไม่น้อย คงหนีไม่พ้น "พรรคเพื่อชาติไทย" โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยา พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือ บิ๊กจ๊อด อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ออกมาประกาศว่า พร้อมจะตั้งพรรค“เพื่อชาติไทย” ซึ่งจะเป็นพรรคที่พร้อมเชื่อมประสานระหว่างฝ่ายปฏิวัติกับฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อการปกครองใหม่ที่ถูกต้อง
และแน่นอนว่า พรรคนี้ก็ไม่ปฏิเสธที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วน นายไพบูลย์ นิติตะวัน เคยประกาศไว้ว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งพรรค "ประชาชนปฏิรูป" และจะไปยื่นแสดงความจำนงค์ขอจดแจ้งชื่อพรรคการเมืองในวันที่ 2 มี.ค.นี้ พร้อมหนังสือขออนุญาต คสช.เพื่อเปิดประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรค โดยเน้น 3 อย่าง คือ ปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา ปฏิรูปการเมือง และปฏิรูปเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีพรรค "พลังธรรมใหม่" ซึ่งเคยจดทะเบียนในนามพรรค "พลังธรรม" และถูกยุบไป โดยจะมี นพ.ระวี มาศฉมาดล หนึ่งในแกนนำมวลมหาประชาชนสาย "พลังธรรม" ที่ออกมาร่วมโค่นล้มรัฐบาล "ปูจ๋า" เป็นผู้รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยจะมีการสืบทอดเจตนารมณ์ของ"พรรคพลังธรรม" เดิม ในเรื่องของความซื่อสัตย์ โปร่งใส สุจริต ส่วนพรรคพลังธรรมใหม่ จะมีการสร้างระบบภายในให้ดีมีความเข้มแข็ง เรียกว่าระบบประกันคุณธรรม
ขณะที่กลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ กลุ่มพลังพลเมืองที่มี นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ เป็นแกนนำ ซึ่งได้เดินทางเข้ามาหารือกับเจ้าหน้าที่ กกต. เป็นการล่วงหน้า เพื่อเตรียมเอกสารการจดจองตั้งพรรคการเมือง โดยจะขอจดแจ้งในนามพรรค "พลังพลเมืองไทย" พร้อมกับบอกว่ามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะจัดตั้งพรรค หรือการลงเลือกตั้ง
หลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจไปราว 4 ปี ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ภายหลังจากมีคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ออกมาก็ทำให้กลุ่มนักการเมืองมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ถือเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งสำหรับการจดแจ้งชื่อพรรคการเมือง และภายหลังจากนี้ก็จะเป็นโอกาสของพรรคการเมืองที่จะได้จัดประชุมกันเป็นครั้งแรก แต่อย่าไรก็ตามก็ต้องขออนุญาต คสช. ก่อนจึงจะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี