วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / สกู๊ปพิเศษ
ยุทธศาสตร์แก้‘ขยะล้นเมือง’ แนวคิดดี..แต่ต้องทำให้รอบคอบ

ยุทธศาสตร์แก้‘ขยะล้นเมือง’ แนวคิดดี..แต่ต้องทำให้รอบคอบ

วันศุกร์ ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558, 06.00 น.
Tag :
  •  

 

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหา “ขยะล้นเมือง” ดังข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในปี 2556 ทั้งปี ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเกือบ 27 ล้านตัน ขณะที่สถานที่กำจัดขยะแบบถูกสุขอนามัย มีเพียง 466 แห่งจากทั้งหมด 2,490 แห่ง หรือเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 81 หรือ 2,024 แห่ง เป็นการกำจัดขยะแบบไม่ถูกสุขอนามัย เช่น กองทิ้งไว้กลางแจ้ง เผาในที่โล่ง รวมถึงลักลอบทิ้งในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม


ด้วยเหตุนี้ภาครัฐของไทยจึงกำหนดให้ปัญหาขยะเป็น “วาระแห่งชาติ” เช่นแผนของกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างปี 2559-2564 ตั้งเป้าจัดการขยะมูลฝอยที่ตกค้างอย่างถูกวิธีให้ได้ “ร้อยละ 100” หรือ “ไม่มีขยะตกค้างอีกต่อไป” กระทั่งมีการออก ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา

กำหนดให้ “โรงไฟฟ้าจากขยะ” ไม่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ “อีไอเอ” (EIA)!!!

ข้อมูลจากรายงานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2558 วันที่ 10 มิ.ย. 2558 ระบุว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าให้นำ ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP) ที่จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาใช้แทนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ (MW) ขึ้นไป เว้นแต่โรงงานไฟฟ้าจากขยะที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ควบคุม 5 ประเภท

คือ 1.พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี 2.พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี 4.พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี และ 5.พื้นที่ที่ความเข้มข้นมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม..แม้จะเป็น “เจตนาดี” ของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง แต่ยังมีข้อน่ากังวลจากภาคประชาชน รายงานการศึกษาเรื่อง “บทเรียนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะ” จัดทำโดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 
อ้างอิงถึงแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) โดยกรมควบคุมมลพิษ อธิบายข้อดี-
ข้อเสียของเตาเผาขยะแบบต่างๆ ไว้ดังนี้

1.เตาเผาแบบอากาศมากเกินพอ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.1 เตาเผาชนิดมีแผงตะกรับ วิธีนี้ข้อดีคือเผาขยะหลายประเภทได้พร้อมกัน เทคโนโลยีไม่ซับซ้อนมาก และไม่ต้องแปรรูปให้เป็นขยะเชื้อเพลิง (RDF) ก่อนเผา แต่ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายดำเนินการสูง โดยเฉพาะการกำจัดกลิ่นไม่ให้ออกไปสร้างความรำคาญให้ชุมชนโดยรอบ ไม่สามารถนำขยะอันตรายจากครัวเรือนมาเผาได้หากเตาเผาไม่ได้รับการออกแบบเพิ่มเติมเป็นพิเศษ รวมถึงขยะในไทยเป็นขยะอินทรีย์เสียเป็นส่วนมาก กำลังการผลิตไฟฟ้าจากเตาเผาประเภทนี้จึงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

1.2 เตาเผาชนิดใช้ตัวกลางนำความร้อน ข้อดีคือประสิทธิภาพสูง ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ค่อนข้างเสถียร รวมถึงผลิตน้ำร้อนและไอน้ำสำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้ แต่ข้อเสียคือขยะที่นำมาเผาต้องถูกแปรรูปเป็นขยะเชื้อเพลิงเสียก่อน และมีค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากวัสดุตัวกลางที่ใช้ในเตาเผาคือทรายขนาด 1 มิลลิเมตร ไม่มีผลิตในประเทศไทย

1.3 เตาเผาทรงกระบอกที่หมุนได้รอบตัว ข้อดีคือรองรับขยะมูลฝอยได้ทุกประเภท แม้กระทั่งขยะติดเชื้อและขยะอันตราย รวมถึงไม่ต้องแปรรูปเป็นขยะเชื้อเพลิงก่อนเผา แต่ข้อเสียคือผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยเพราะสูญเสียความร้อนในการเผามากกว่าระบบอื่นๆ และมีค่าใช้จ่ายในระบบค่อนข้างสูง

2.เตาเผาแบบไร้อากาศ เป็นวิธีกำจัดขยะประเภท “พลาสติก” โดยเฉพาะ ข้อดีคือสามารถแปรรูปพลาสติกให้กลายเป็นน้ำมันไปใช้ในอุตสาหกรรมได้ ข้อเสียคือการดูแลระบบค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน ทั้งคุณลักษณะของขยะมูลฝอย อุณหภูมิในเครื่องปฏิกรณ์ ความดัน การกำจัดปริมาณน้ำมันดิน (ทาร์-Tar) และฝุ่นละอองในก๊าซ รวมถึงต้องเติมตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันและก๊าซเพื่อลดการเกิดกากและมลพิษ

3.เตาเผาแบบควบคุมอากาศ ข้อดีคือระบบนี้ควบคุมมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก๊าซในเตาเผาจะถูกทำความสะอาดก่อนการเผาไหม้ในอุณหภูมิที่สูง รวมถึงสามารถหลอมแก้วและโลหะได้เพราะใช้ความร้อนสูง แต่ข้อเสียคือเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน อีกทั้งระบบทำความสะอาดก๊าซที่อุณหภูมิสูงต้องใช้วัสดุพิเศษ เช่น เซรามิกทนไฟ ทำให้ระบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมากด้วยเช่นกัน

ซึ่งเตาเผาขยะต่างๆ นี้แม้จะใช้เทคโนโลยีทันสมัย แต่หากไม่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัดก็อาจก่อมลพิษได้มาก รายงานฉบับนี้ของเพ็ญโฉม อ้างอิงรายงานประจำปี 2556 ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (US EPA) ที่พบว่าโรงเผาขยะและผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ 2 แห่ง ปล่อยมลพิษจำนวนมากสู่สิ่งแวดล้อม และในจำนวนนี้มีสารพิษที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน เช่น ตะกั่ว ปรอท รวมถึงไดออกซิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์

ขณะที่บทความเรื่อง “ความแตกต่างระหว่างประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Practice หรือ COP) กับการจัดทำรายการงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลง” โดย สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย แสดงความเป็นห่วงไว้หลายประเด็น เช่น

1.ขาดการรับฟังข้อกังวลของประชาชน โดยปกติแล้วโครงการขนาดใหญ่ต้องทำ EIA เพื่อรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ สำหรับนำมาจัดทำมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบๆ โครงการ แต่ CoP ไม่มีข้อกำหนดนี้ 2.ขาดการเปรียบเทียบเชิงคำนวณผลกระทบ การทำ EIA สำหรับโรงงานกำจัดขยะ จะมีการคำนวณปริมาณมลพิษสูงสุด (Maximum Ground Concentration) ว่าจะไปตกอยู่ในพื้นที่ใด ทั้งก่อนและหลังมีโครงการ เพื่อนำไปสู่การเฝ้าระวังชุมชนที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ

3.ขาดการหารือร่วมของผู้เกี่ยวข้อง การทำ EIA จะมีขั้นตอนการหารือกันระหว่างประชาชนในพื้นที่ เจ้าของโครงการและผู้ทรงคุณวุฒิ และมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการ นำไปสู่การได้ข้อสรุปที่รอบคอบมากขึ้น

4.ขาดการตรวจสอบสารปนเปื้อน ใน CoP ไม่มีข้อกำหนดให้ต้องติดตามตรวจสอบปริมาณสารอันตรายต่างๆ เช่น ปรอท สารหนู แคดเมียม และสารไดออกซินในบรรยากาศ รวมถึงในเถ้าที่ได้จากการเผาขยะ ซึ่งหากนำเถ้าขยะนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ถมดินหรือทำอิฐบล็อก อาจก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ 5.ขาดการวางแผนรับมือวิกฤติ ใน CoP ไม่ระบุให้จัดทำแผนอพยพชุมชนใกล้เคียงโครงการหากเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม ฯลฯ

และ 6.การกำหนดพื้นที่ควบคุมยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เพราะกำหนดพื้นที่ควบคุมไว้เพียง 5 ประเภทข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่น่าเป็นห่วงไม่ต่างกัน เช่น พื้นที่ชุมชน พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่ใกล้อ่างเก็บน้ำ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์น้ำดิบเพื่อการประปา เป็นต้น

ด้านหนึ่งการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องรีบดำเนินการ แต่อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะต่อชุมชนท้องถิ่น ดังนั้นหากเร่งรีบเพียงอย่างเดียวแต่ขาดความรอบคอบ ก็อาจเกิดปัญหามลพิษอื่นๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตที่ต้องเจ็บป่วยล้มตาย กลายเป็น“ฝันร้าย” ให้ชาวบ้าน “เกลียดกลัว” 
และ “คัดค้าน” โครงการขนาดใหญ่ทุกอย่างในระยะยาว เช่นที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้

จนประเทศชาติเดินหน้าพัฒนาต่อไปไม่ได้เลย!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

(คลิป) หลอกหลอน 'โฆษกพรรคเพื่อไทย' ไปตลอดชีวิต

'ดร.เสรี' ถาม 'รมว.สธ.'ตัดสินใจอย่างไร จะยึดความถูกต้องหรือจะยึดการรับใช้?

แคชเมียร์ระอุ! 'ปากีสถาน'ยกระดับโจมตี ยิงถล่มเสียชีวิต 1 ราย

ละเมิดสิทธิเด็ก! ‘ยูเอ็น’ประณาม‘อิสราเอล’สั่งปิดโรงเรียนในเยรูซาเล็มตะวันออก อ้าง‘ฮามาส’แฝงตัว

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved