เรามักจะได้ยินนักเศรษฐศาสตร์พูดว่า การที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆ นั้น จะช่วยให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก โดยรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดจะมากกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการมาก บางคนฟังแล้วอาจจะงงๆ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง หรือไม่เชื่อเลย หรือเชื่อตามนั้น ผู้เขียนขอยืนยันว่าสามารถช่วยให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ทั้งนี้เกิดจากการทำงานของตัวทวี หรือตัวคูณ (multiplier) ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
ตัวทวีหรือตัวคูณเป็นกรอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) โดยอธิบายว่า เมื่อรัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณในโครงการต่างๆซึ่งทำให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการและ/หรือซื้อปัจจัยการผลิตหรือการจ้างงาน เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติ(National income) นั้น จะไม่ได้เกิดเพียงรอบเดียว หรือครั้งเดียว แต่จะมีลักษณะเกิดหรือกระทบเป็นเป็นทอดๆ หรือหลายรอบ ซึ่งแต่ละทอดจะเป็นลักษณะที่ผู้ได้รับเงินมาจากการขายสินค้า และบริการ หรือขายปัจจัยการผลิต หรือรับจ้างแรงงาน จ่ายเงินที่ได้รับมานั้นออกไป โดยอาจจะจ่ายออกไปเกือบทั้งหมด ออมไว้บางส่วน หรือจะจ่ายออกไปทั้งหมด เพื่อซื้อสินค้า และบริการ หรือปัจจัยการผลิตหรือการจ้างแรงงาน ต่อๆ เป็นทอดๆ ไป ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดเหล่านี้คิดเป็นรายได้ของชาติ อันเกิดจากการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลในรอบแรกทั้งสิ้น
ผลกระทบเป็นทอดๆ จะก่อให้เกิดรายได้ประชาชาติโดยรวม เพิ่มขึ้นในแต่ละรอบ หรือแต่ละทอดมากน้อยแค่ไหน และผลกระทบเป็นทอดๆ จะยาวนานแค่ไหน จะก่อผลกระทบทั้งหมดกี่รอบ หรือกี่ทอด จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการ ดังนี้ (1)เงินที่ได้รับมาจะจ่ายออกไปเป็นสัดส่วนเท่าไร เก็บออมไว้เป็นสัดส่วนเท่าไร เช่น ได้รับเงินมา 100 บาท (y) ใช้จ่ายไป 80 บาท (c) และเก็บออมไว้ 20 บาท (s) คิดเป็นสัดส่วนของการใช้จ่าย ซึ่งค่านี้ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “แนวโน้มการบริโภคส่วนเพิ่ม” (Marginal Propensity to Consume) (MPC)ส่วนสัดส่วนการเก็บออมไว้จะเท่ากับ ค่านี้ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า“แนวโน้มการออมส่วนเพิ่ม” (Marginal Propensity to Save) (MPS)
จะเห็นได้ว่าถ้าเงินที่ได้รับมาแต่ละทอดหรือรอบถูกใช้จ่ายออกไปในสัดส่วนที่มากถ้ามีขนาดใหญ่ หรือเข้าใกล้ 100%ผลกระทบที่ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นต่อรายได้ประชาชาติก็จะมากหรือใหญ่ และจำนวนรอบหรือทอดก็จะยาวนานมากขึ้น เช่นถ้า MPC เท่ากับ 1 ซึ่งหมายความว่าเงินที่ได้รับมาจะถูกจ่ายออกไปทั้งหมดในแต่ในละทอดหรือรอบ ผลกระทบจะมีลักษณะก่อให้เกิดรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นเป็นทอดๆ หรือรอบๆ อย่างไม่สิ้นสุด แต่ถ้า MPC น้อยหรือเล็ก หมายความว่าเงินที่ได้รับเพิ่มมาจะเก็บออมไว้เกือบหมดใช้จ่ายออกไปในสัดส่วนที่น้อย ผลกระทบที่ก่อให้เกิดรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นแต่ละทอดหรือรอบยิ่งเล็ก และจำนวนทอดหรือรอบที่กระทบยิ่งน้อยทำให้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้น้อย
ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือตลาดเสรี จะมีปัญหาช่องว่างของการกระจายรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนมากซึ่งคนจนส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร คนชนบทและผู้ใช้แรงงานรับจ้างในเมือง บุคคลเหล่านี้เมื่อได้รับเงินมาในรูปขายสินค้า และบริการ หรือรับจ้างทำงานก็จะใช้เงินออกไปในการซื้อสินค้าหรือบริการในสัดส่วนที่มาก หรือเกือบทั้งหมดอาจมีเก็บออมไว้บ้างเป็นสัดส่วนที่น้อย ฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะมีค่า MPC ค่อนข้างใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนรวย เงินที่ได้รับมาจะใช้จ่ายออกไปในรูปซื้อสินค้าหรือบริการในสัดส่วนที่น้อย โดยจะเก็บออมไว้ในสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มคนจน ดังนั้นงบประมาณที่รัฐบาลใช้จ่ายออกไปจำนวนเท่ากันถ้าไปตกแก่กลุ่มคนจน จะส่งผลกระทบให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นทางรายได้ประชาชาติ และการจ้างงานมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับตกแก่กลุ่มคนรวย
(2) เงื่อนไขอีกประการหนึ่งคือ การใช้จ่ายดำเนินโครงการสาธารณะของรัฐบาล ถ้าเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการหรือการซื้อปัจจัยการผลิตหรือการจ้างงาน เป็นสินค้าหรือบริการที่ผลิตในประเทศไทย หรือจ้างงานคนไทยทั้งหมด รายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ภายในประเทศ แต่ถ้ามีส่วนที่ซื้อสินค้านำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือซื้อปัจจัยการผลิตที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือจ้างแรงงานจากต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับเงินมา นำส่วนหนึ่งไปท่องเที่ยวต่างประเทศ เงินส่วนนี้จะไปช่วยเพิ่มรายได้ประชาชาติ หรือ กระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานในต่างประเทศ ถือเป็นส่วนที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศ
ประเด็นข้างต้นนี้ กลุ่มคนจน หรือกลุ่มคนมีรายได้น้อย เมื่อได้รับรายได้เพิ่มขึ้น จะใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการที่นำเข้าจากต่างประเทศน้อย หรือแม้การไปท่องเที่ยวต่างประเทศก็น้อย ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนรวยที่ซื้อสินค้าหรือบริการที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในสัดส่วนที่มากกว่า หรือการใช้เงินที่ได้เพิ่มมาไปท่องเที่ยวต่างประเทศก็เป็นสัดส่วนที่มากกว่ามาก ในทางตรงกันข้ามถ้าการใช้จ่าย เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการสาธารณะของรัฐบาล เช่นโครงการรับจำนำข้าวกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากโครงการสาธารณะนี้เป็นกลุ่มเกษตรกร ถือว่าเป็นกลุ่มคนจน หรือกลุ่มคนมีรายได้น้อย ซึ่ง MPC ใหญ่ เมื่อได้เงินไปก็ผลิตข้าวเพิ่มขึ้น แล้วส่งออกไปขายต่างประเทศ เงินที่ได้รับมาจากการขายข้าวไปต่างประเทศ จะถูกใช้จ่ายไปภายในประเทศ ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเป็นทอดๆ หรือเป็นรอบๆ ที่มากขึ้นและก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติเป็นแบบทวีคูณ เช่นกัน
จะขอยกตัวอย่างการอธิบายข้างต้นเป็นตัวเลขสมมุติ ดังนี้ ตัวอย่างที่ 1สมมุติรัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการสาธารณะ100 บาท และMPCเท่ากับ 0.8 เป็นค่าเฉลี่ยโดยสมมุติให้คนไทยทุกคนมี MPC เท่ากับ 0.8 เท่ากันหมด และเงินที่ใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการหรือการจ้างงานจะอยู่ภายในประเทศเท่านั้น จากตัวอย่างข้างต้น (1) เงินที่ได้รับมาแต่ละรอบ หรือทอดจะเท่ากับเงินที่จ่ายออกไปบวกที่ออมไว้ (2) การออมเป็นเงินที่รั่วออก แต่ละรอบ หรือทอด เมื่อรั่วออกหมดรวมกันเท่ากับ 100 ซึ่งเท่ากับเงินที่จ่ายไปในรอบแรก จะไม่มีเงินเหลือในการเพิ่มรายได้ประชาชาติในรอบต่อไป เป็นการสิ้นสุดการทำงานของตัวทวี หรือตัวคูณ (3) เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทุกรอบตั้งแต่รอบแรกถึงรอบสุดท้ายจะได้รายได้ประชาชาติที่ถูกสร้างขึ้นทั้งหมด โดยสามารถคำนวณได้จากสูตรคือ y = k x rx โดย K คือ ตัวทวี หรือตัวคูณมีค่าเท่ากับ และ x คือเงินที่จ่ายรอบแรกเท่ากับ 100 บาท ฉะนั้น y = 5 x 100 = 500 บาท
ตัวอย่างที่ 2 สมมุติรัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการสาธารณะ 100 บาท และ MPC เท่ากับ 0.6 เป็นค่าเฉลี่ย โดยสมมุติให้คนไทยทุกคนมี MPC เท่ากับ 0.6 เท่ากันหมด และเงินที่ใช้จ่ายในการซื้อสินค้า และบริการ หรือการจ้างงานจะอยู่ภายในประเทศเท่านั้น ลักษณะการใช้จ่าย และการสร้างรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นจะเป็นรอบๆ หรือทอดๆ เหมือนตารางในตัวอย่างที่ 1 จะต่างกันก็ค่าใช้จ่ายแต่ละรอบ ซึ่งเท่ากับรายได้ประชาชาติที่สร้างขึ้นนั้นน้อยลง เพราะส่วนที่รั่วไหลในรูปเงินออมแต่ละรอบมากกว่า และจำนวนรอบของการใช้จ่ายซึ่งก่อให้เกิดการสร้างรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นก็จะน้อยลงด้วย เพราะเงินที่รั่วออกในรูปเงินออมจะหมดเร็วกว่านั่นเอง
ความสำคัญของการทำงานของตัวทวี หรือตัวคูณ จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งเพราะประชาชนใช้จ่ายเงินน้อยลง เก็บออมไว้มากขึ้น ทำให้ส่วนรั่วไหลมากขึ้น หรืออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจน้อยลง ตัวทวี หรือตัวคูณจะทำงานในทางลบ ซึ่งตรงกันข้ามกับตัวอย่างข้างต้น เป็นผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ และรายได้ประชาชาติลดลงอย่างทวีคูณ นอกจากนี้เงินงบประมาณที่รัฐบาลใช้จ่ายอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยังน้อยด้วย สภาพดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การดำเนินนโยบายสาธารณะโดยรัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น และต้องดำเนินการต่อเนื่องทุกปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณอย่างต่อเนื่องทุกปีในระยะยาว นอกจากนี้ถ้าเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายส่วนใหญ่ตกแก่กลุ่มคนจน จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายลดช่องว่างการกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มคนจน กับกลุ่มคนรวยอีกด้วย
ตัวทวี หรือตัวคูณนี้ในทางปฏิบัติจะคำนวณหาอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ เพราะระบบเศรษฐกิจมีความสลับซับซ้อนทั้งการใช้จ่ายเพื่อบริโภคของประชาชนการลงทุนของเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล ส่งออก และนำเข้า จึงต้องหาจากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic model) และใช้วิธีการทางเศรษฐมิติ (Econometrics) ช่วยในการคำนวณหา เป็นแบบจำลองใหญ่ และใช้เงินงบประมาณมากในการสร้าง
นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาให้ทันสมัยโดยเฉพาะการใช้ข้อมูลใหม่ คำนวณปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ จึงจะให้ค่าที่ถูกต้อง และเหมาะสมมากที่สุด คิดว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ หรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ควรจะมีแบบจำลองดังกล่าว ซึ่งถ้ายังไม่มีก็ควรใช้งบประมาณคำนวณหาตัวทวี หรือตัวคูณดังกล่าว โดยถ้ายิ่งแยกได้เป็นของกลุ่มคนจน และกลุ่มคนรวยยิ่งดี เพราะเป็นประโยชน์ในการใช้คำนวณผลกระทบด้านผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการสาธารณะต่างๆ ของรัฐบาล
ศาสตราจารย์ ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์
อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี