5 พ.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Trump orders 100% tariff on foreign-made movies to save 'dying' Hollywood ระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2568 ว่าจะขึ้นภาษีอัตรา 100% กับภาพยนตร์ที่ผลิตในต่างประเทศ โดยให้เหตุผลว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐฯ กำลังตายอย่างรวดเร็วเนื่องมาจากแรงจูงใจที่ประเทศอื่นๆ เสนอให้เพื่อล่อใจผู้สร้างภาพยนตร์
“นี่เป็นความพยายามร่วมกันของประเทศอื่นๆ และถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ นอกเหนือจากสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดแล้ว มันยังเป็นการส่งข้อความและโฆษณาชวนเชื่ออีกด้วย” ผู้นำสหรัฐฯ โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social
ทรัมป์ เปิดเผยว่า ตนได้มอบอำนาจให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ เริ่มกระบวนการจัดเก็บภาษี 100% กับภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ผลิตในต่างประเทศที่ส่งมายังสหรัฐฯ ทันที เพราะต้องการให้ภาพยนตร์กลับมาสร้างในสหรัฐฯ อีกครั้ง ขณะที่ โฮเวิร์ด ลุตนิค (Howard Lutnick) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ระบุว่า กำลังดำเนินการอยู่ แต่ทั้งคู่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
เบื้องต้นยังไม่ชัดเจนว่าภาษีดังกล่าวจะใช้กับภาพยนตร์บนบริการสตรีมมิ่งและที่ฉายในโรงภาพยนตร์หรือไม่ หรือจะคำนวณจากต้นทุนการผลิตหรือรายได้จากบ็อกซ์ออฟฟิศหรือไม่ ผู้บริหารของฮอลลีวูดกำลังพยายามหาข้อสรุปในรายละเอียดเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนสมาคมภาพยนตร์ซึ่งเป็นตัวแทนของสตูดิโอภาพยนตร์รายใหญ่ยังไม่มีความเห็นใดๆ
ย้อนไปในเดือน ม.ค. 2568 ทรัมป์ได้แต่งตั้ง 3 นักแสดงรุ่นใหญ่ของฮอลลีวู้ด คือ จอน วอยต์ (Jon Voight) ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) และ เมล กิ๊บสัน (Mel Gibson) เพื่อให้มานำวงการภาพยนตร์สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่ ดีกว่า และแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งนี้ การผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ได้ออกจากฮอลลีวูดมาหลายปีแล้ว โดยมุ่งหน้าสู่สถานที่ที่มีแรงจูงใจทางภาษีที่ทำให้การถ่ายทำมีราคาถูกลง
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลทั่วโลกได้เพิ่มเครดิตและเงินคืนเพื่อดึงดูดการผลิตและคว้าส่วนแบ่งที่มากขึ้นจาก 248,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง Ampere Analysis คาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายทั่วโลกในปี 2568 เพื่อผลิตเนื้อหา โดยบริษัทสื่อหลักทั้งหมด รวมถึงวอลต์ ดิสนีย์ เน็ตฟลิกซ์ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส นิยามยกกองไปถ่ายทำในต่างประเทศ เช่น แคนาดาและอังกฤษ
ข้อมูลของบริษัทวิจัย ProdPro พบว่า ในปี 2566 ประมาณครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายสำหรับโครงการภาพยนตร์และรายการทีวีที่มีงบประมาณมากกว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ถูกส่งออกไปนอกประเทศ เช่นเดียวกับข้อมูลของ FilmLA ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ติดตามการผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคนี้ ที่พบว่า การผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ลดลงเกือบร้อยละ 40 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในเมืองลอส แองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของฮอลลีวูด
ไฟป่าในเดือน ม.ค. 2568 ทำให้เกิดความกังวลว่าผู้ผลิตอาจมองหาพื้นที่อื่นนอกลอสแองเจลิส และตากล้อง นักออกแบบเครื่องแต่งกาย ช่างเสียง และคนงานเบื้องหลังอื่นๆ อาจย้ายออกไปนอกเมืองแทนที่จะพยายามสร้างใหม่ในละแวกบ้านของตน ขณะที่การสำรวจผู้บริหารของ ProdPro พบว่า แคลิฟอร์เนียเป็นสถานที่ที่นิยมถ่ายทำมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ในอีกสองปีข้างหน้า รองจากโตรอนโต (แคดานา) อังกฤษ แวนคูเวอร์ (แคนาดา) ยุโรปกลาง และออสเตรเลีย
ผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูดและสหภาพแรงงานเรียกร้องให้ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กาวิน นิวซัม (Gavin Newsom) เพิ่มแรงจูงใจทางภาษีของรัฐเพื่อแข่งขันกับสถานที่อื่นๆ ได้ดีขึ้น ส่วนภาษีภาพยนตร์ที่ทรัมป์เสนอนั้นเกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งทางการค้าหลายกรณีที่ริเริ่มโดยรัฐบาลของเขา ซึ่งทำให้ตลาดปั่นป่วนและนำไปสู่ความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ
วิลเลียม ไรน์ช (William Reinsch) อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพาณิชย์และนักวิจัยอาวุโสของศูนย์การศึกษาด้านยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศ กล่าวว่า การขึ้นภาษีภาพยนตร์ของทรัมป์จะเป็นเรื่องเลวร้ายมาก เพราะจะทำลายอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่เสียมากกว่าได้ และการทำให้ภาพยนตร์เป็นกรณีฉุกเฉินด้านความมั่นคงแห่งชาติหรือระดับชาตินั้นก็เป็นเรื่องยาก
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี