ค่าแรง300บาทพ่นพิษ
สระบุรีปิดรง.
200พนง.สาวตกงาน
สอท.ชี้SME5-10%เจ๊งแน่
ดิ้นซบลาว-เขมร-เวียดนาม
จ่อปรับราคาสินค้าหนีตาย
เมื่อวันที่ 2 มกราคม ที่กระทรวงแรงงาน นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลกระทบในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ซึ่งเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้มี 2 จังหวัด ที่ส่งสัญญาณจะมีการเลิกจ้าง คือ จ.ขอนแก่น และจ.พะเยา ในกิจการประเภทสิ่งทอและเซรามิก ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ กสร.ให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 29 จังหวัด ที่มีการปรับค่าจ้าง
แบบก้าวกระโดด เช่น จ.ตาก สุรินทร์ น่าน ศรีสะเกษและจ.พะเยา ให้ออกตรวจสถานประกอบการอย่างเข้มงวดอย่างน้อยขอให้ได้ประมาณ 4,000แห่งต่อเดือนและให้รายงานผลทุกวันที่5 ของเดือนถัดไป แต่หากพบสัญญาณที่รุนแรงสามารถแจ้งมาที่ตนเองได้ตลอดเวลา
“หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างหรือนำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างจะมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541มีโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือน ปรับไม่เกิน 1แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการออกคำเตือน หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนนายจ้างที่แจ้งการจ่ายค่าจ้างเท็จ หากตรวจพบจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างส่วนต่างย้อนหลังให้แก่แรงงานแม้ว่าลูกจ้างจะยินยอม ซึ่งเรื่องนี้มีอายุความ 2ปี นับจากวันที่เกิดสิทธิ์”นายปกรณ์ กล่าว
คสทร.เปิดสายรับแจ้งปัญหา
ด้าน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ช่วงเดือนธันวาคม2555 ยังไม่พบสัญญาณเลิกจ้างอย่างรุนแรงตามที่คาดการณ์ไว้ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าของเดือนมกราคม2556 จะทราบสถานการณ์ที่แน่ชัด ซึ่งขณะนี้ คสรท.ได้เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปรับขึ้นค่าแรง 300บาท ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยและตามจังหวัดต่างๆ โดยผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาการปรับขึ้นค่าจ้างสามารถโทรมายังหมายเลข02-251-3170 ซึ่ง คสรท.และเครือข่ายแรงงานจะรับฟังปัญหาและสถานการณ์การเลิกจ้างจากแรงงาน รวมทั้งรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อกระทรวงแรงงานภายใน 2-3เดือน อย่างไรก็ตามอยากให้กระทรวงแรงงานเข้มงวดตรวจสอบเรื่องนำเอาสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างด้วย
นายจ้างฝ่าฝืนโทษปรับ-จำคุก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541กำหนดไว้ในกรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง หากเป็นลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 120วัน แต่ไม่ครบ 1ปี ต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30วัน ลูกที่ทำงานตั้งแต่ 1ปี แต่ไม่ครบ 3ปี ต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 90วัน ลูกที่ทำงานตั้งแต่ 3ปี แต่ไม่ครบ 6ปี ต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 180วัน ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 6ปี แต่ไม่ครบ 10ปี ต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 240วันและลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 10ปีขึ้นไป จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300วันของค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ได้รับ
สอท.เชื่อปรับราคาสินค้าแน่
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300บาท จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า เชื่อว่าผู้ประกอบการคงปรับราคาสินค้าขึ้นตามกลไกตลาด
คงต้องจับตาดูผลกระทบช่วงไตรมาส1และ2 ว่า ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด เพราะภาระที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอาจตกไปอยู่ที่การปรับราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่จะผ่อนปรนเรื่องราคาสินค้าและไม่เน้นควบคุมราคาสินค้านั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างเสรี แต่กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลไม่ให้เกิดการค้ากำไรเกินควร การกักตุนสินค้าและทำให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างสมดุล เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค
ดิ้นซบลาว-เขมร-เวียดนาม
ขณะที่ นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวถึงผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงวันละ 300บาท ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เช่น เครื่องนุ่งห่ม ภาคบริการและภาคการเกษตร เชื่อว่าภายในไตรมาสแรกปี2556 (ม.ค.-มี.ค.) จะเริ่มเห็นการปิดตัวของโรงงานและจะชัดเจนช่วงไตรมาส2 (เม.ย.-มิ.ย.) ประมาณ 5-10% ของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการที่อยู่รอดได้ถือว่า เป็นฮีโร่ในภาคอุตสาหกรรม สำหรับเอสเอ็มอีที่มีเงินทุนเพียงพอเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ย้ายไปลาว กัมพูชาและเวียดนาม อีกปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้คือ ผลจากค่าแรงเท่ากัน 300บาททั่วประเทศ ผู้ประกอบการจากเดิมที่เคยกระจายโรงงานออกไปยังต่างจังหวัดจะทยอยปิดโรงงานแล้วมาตั้งโรงงานที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เพราะจะประหยัดในต้นทุนโลจิสติกส์และต้นทุนอื่นๆได้มากกว่า
ครึ่งปีหลังเห็นภาพเจ๊งชัดเจน
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300บาททั่วประเทศ เชื่อว่าผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบมากสุด เพราะใช้แรงงานคิดเป็น25-28% ยอดขาย ที่ยอมจ่ายค่าแรงดังกล่าวทั้งหมดเพราะเป็นกฎหมายและรักษาแรงงานเพื่อให้กิจการยังอยู่รอด นอกจากนี้ หากเจ้าของกิจการปล่อยให้ปิดกิจการจะมีผลต่อชีวิตและครอบครัว ไม่เหมือนบริษัทใหญ่ที่จ้างคนนอกมาบริหารงาน และไม่ได้รับความเสี่ยงดังกล่าว แต่จะอยู่รอดได้นานแค่ไหนเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะเห็นภาพชัดเจน
แนะรบ.ออกมาตรการเยียวยา
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผลกระทบเกิดกับผู้ประกอบการอย่างรุนแรง ต้องการให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะมาตรการที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)คือ รัฐบาลตั้งวงเงินชดเชยส่วนต่างค่าแรงให้กับเอสเอ็มอี จากข้อเสนอให้ช่วยเหลือ75% ผู้ประกอบการจ่ายเอง25% ในปีแรก ปีที่2 รัฐบาลจ่าย50% ผู้ประกอบการจ่ายเอง50% ปีที่3 รัฐบาลจ่าย25%และผู้ประกอบการ75% เมื่อเข้าสู่ปีที่4 ผู้ประกอบการจ่าย100% เพราะมาตรการดังกล่าวมีความสำคัญและรัฐบาลรับปากจะดูแลให้และถึงวันนี้ ค่าแรงก็มีผลทางกฎหมายแล้ว
รง.ชุดชั้นในสระบุรีปิดกิจการ
สำหรับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300บาท ที่เห็นภาพชัดเจนเกิดขึ้น เวลา 12.00 น.วันที่ 2 มกราคม 2556 โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มพนักงานสตรีบริษัทวีณาการ์เมนต์ จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นใน ตั้งอยู่เขต อ.วิหารแดง จ.สระบุรี จำนวนกว่า 200 คน เดินทางมาชุมนุมกันที่หน้าศาลากลาง จ.สระบุรี เพื่อประท้วงบริษัท โดยมี นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี เป็นแกนนำ เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายถาวร พรหมมีชัย ผวจ.สระบุรี
ทั้งนี้ นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี ระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดส่วนใหญ่ทำงานกับบริษัทวีณาการ์เมนต์ จำกัด มานานกว่า 10 ปี ทุกคนต่างได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากทางบริษัทฯได้ปิดประกาศปิดโรงงาน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าว่า จะมีการปิดโรงงาน
ปลุกม็อบบุกร้องผวจ.ช่วยด่วน
“วันที่ 25ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทเรียกตัวแทนพนักงานเข้าประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าแรง 300บาทที่พนักงานควรจะได้รับ แต่บริษัทบอกว่าไม่สามารถจ่ายได้ เนื่องจากต้นทุนและวัตถุการผลิตสูง ซึ่งการประชุมวันดังกล่าว ทั้งทางตัวแทนพนักงานและทางบริษัท ยังไม่ได้ข้อตกลงกัน ทางบริษัทจึงขอเลื่อนนัดเจรจาออกไปก่อน แต่หลังจากวันที่ 25ธันวาคม บริษัทก็ไม่ได้ติดต่อกับตัวแทนพนักงานอีกเลย กระทั่งพนักงานมาพบในวันที่ 2มกราคมว่า บริษัทได้ปิดโรงงานไปแล้ว โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้กลุ่มพนักงานทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะแต่ละคนต้องอาศัยเงินเดือนเลี้ยงครอบครัวทั้งสิ้น”นายบุญสม กล่าว
ต่อมา นายชโลธร ผาโคตร รอง ผวจ.สระบุรี ออกมารับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้นผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันกลับ ส่วน นายสมาน พงษ์พันธ์เดชา เจ้าของบริเษัทวีณาการ์เมนต์ จำกัด ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไม่สามารถจะติดต่อขอทราบรายละเอียดได้
นักวิชาการเชื่อตกงานอีกบาน
ขณะที่ รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300บาท จะช่วยให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนความกังวลเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในเรื่องนี้มองว่า เป็นการทดสอบความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจประสบปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจริงๆ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปประกอบธุรกิจอื่น หรือประกอบอาชีพอื่นแทน ขณะที่ผู้ประกอบการโรงงานหลายรายเริ่มปลดพนักงานบ้างแล้ว เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นได้และมีแนวโน้มว่า ลูกจ้างจะถูกเลิกจ้างเพิ่มมากขึ้น