นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมี.ค. 2565 เท่ากับ 104.79 เทียบกับก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 0.66% เทียบกับเดือนมี.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีมาแล้วเมื่อเดือนก.พ.2565 ที่ผ่านมา ที่สูงขึ้น 5.28% ส่วนเงินเฟ้อรวม 3 เดือนปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 4.75% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.43 เพิ่มขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. 2565 และเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. 2564 และรวม 3 เดือนเพิ่มขึ้น 1.43%
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมี.ค.2565 สูงขึ้น มาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานสูงขึ้น 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95% รวมถึงสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ ผักสด เพิ่ม 9.96% เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่สด) เพิ่ม 5.74% ไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 6.08% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 8.16% อาหารบริโภคในบ้าน เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 6.28% และอาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่ม 6.15% โดยปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ และยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นอีกหลายรายการที่ราคาปรับลดลง เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ผลไม้สดบางชนิด เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ
ทั้งนี้ ในเดือนมี.ค. 2565 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 280 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) กับข้าวสำเร็จรูป เนื้อสุกร ไข่ไก่ อาหารเช้า น้ำมันพืช น้ำประปา เป็นต้น สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 59 รายการ เช่น ค่าใบอนุญาตขับขี่ค่าเบี้ยประกันทรัพย์สิน ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าเบี้ยประกันคุ้มครองผู้ประสบภัย จากรถ (พ.ร.บ.) ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และราคาลดลง91 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ส้มเขียวหวาน ขิง ค่าธรรมเนียมการศึกษา ถั่วฝักยาว ค่าเช่าบ้าน กล้วยหอม และผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง)
นายรณรงค์กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. 2565 ถ้าดูจากตัวเลขในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาโดยม.ค.เพิ่มขึ้น 3.23% ก.พ.เพิ่ม 5.28% และมี.ค.เพิ่ม 5.73% มีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้น เพราะผลกระทบจากสถานการณ์สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรก สนค.ได้ปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่ โดยปรับจากเดิม 0.7-2.4% ซึ่งเป็นการตั้งเป้าเมื่อเดือนพ.ย.2564 ที่ยังไม่มีภาวะสงคราม แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน ปัจจัยต่างๆ เปลี่ยน จึงปรับประมาณการใหม่เป็น 4-5% โดยมีสมมุติฐานจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.4-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าในระยะต่อไป สถานการณ์เปลี่ยนไปและดีขึ้น ก็จะมีการปรับคาดการณ์อีกครั้ง
สำหรับความกังวลที่จะเกิดสถานการณ์ Stagflation ที่เศรษฐกิจตกต่ำและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบด้วย เพราะหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี จากการเปิดประเทศ การมีนักท่องเที่ยวเข้ามาและการส่งออกยังเติบโต รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น กำลังซื้อยังเป็นปกติ ถือว่าไม่น่าห่วง แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง กำลังซื้อไม่มี เป็นอีกเรื่องที่จะต้องติดตาม
กระบองเพชร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี