พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ สยามพารากอน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ว่าเป็นวิกฤตโลกครั้งที่ใหญ่ที่สุด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก แต่ไทยก็สามารถรับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุด เป็นลำดับต้นๆของโลก ต่อมาไทยก็ได้รับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่า ส่งผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอาทิ การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตลอดจนการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายว่า ประเทศไทยต้องมี การลงทุนและเตรียมความพร้อมที่จะเติบโต ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่อย่างครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ ต้องมีการลงทุน 1. เทคโนโลยีดิจิทัล 2. อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน 3. นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และ 4. ดำเนินการกำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทยเพื่อให้มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศไทย ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการในประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ในทุกโอกาสที่ได้พบปะผู้นำประเทศแบบทวิภาคี หรือการประชุมสำคัญๆ แบบพหุภาคี รัฐบาลนำเสนอนโยบายเชิงรุก และแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ในประเด็นหลักที่เป็น “วาระของโลก” ซึ่งในปี 2565 นี้ ได้มีความคืบหน้าครั้งสำคัญ เช่น 1. การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย 2. ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น 3. การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ
ดร.เศรษฐวุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาโควิด-19 แบงก์ชาติต้องดูแลให้สถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติ สินเชื่อหดตัว ธุรกิจลำบาก ล่าสุด สินเชื่อไทยโตร้อยละ 6 นับว่ากลไกทางการเงิน ยังพอทำงานได้แต่ ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ยังขาดสภาพคล่องได้ทั่วถึง และยังได้ไกล่เกลี่ยหนี้ การพักทรัพย์พักหนี้ หลังจากนี้ไป ธปท.ต้องหาทางทำอย่างไม่ให้ทุกส่วนสะดุด เพื่อเดินหน้าการลงทุน ทั้งปัญหา NPL อัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงจนกระทบต่อทุกฝ่าย ยืนยันว่าไทยไม่เจอปัญหา StragFlation อย่างแน่นอน เพราะธปท. ยังคาดว่า GDP เติบโตร้อยละ 3.2 ในปี 2565
ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องสร้างนิเวศให้มีความพร้อม รองรับการฟื้นตัวจากปัญหา เมื่อไทยแนวโน้มที่โดดเด่น ต้องสร้างโอกาสใหม่ให้เอกชน มุ่งด้านความปลอดภัยทางอาหาร เพราะไทยมีศักยภาพสูงมาก ต้องหาจุดเด่นมาส่งเสริม