สำเร็จครั้งใหญ่! "จุรินทร์"นับหนึ่ง FTA ประวัติศาสตร์ ไทย-อียู หลังถกร่วม 2 ฝ่าย ที่บรัสเซลส์ ทำไทยได้แต้มต่อตลาดใหม่ 27 ประเทศ
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 09.00 น.ในช่วงเย็นวันที่ 25 มกราคม 2566 ตามเวลาท้องถิ่น ที่ Le Berlaymont กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม นายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการหารือทวิภาคีกับ H.E. Mr. Valdis Dombrovskis (นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยกับสหภาพยุโรป ได้มีการเจรจาทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปวันนี้เป็นการเจรจาที่มีผลสัมฤทธิ์ที่ฝ่ายการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อสรุปแสดงเจตจำนงร่วมกันในการเริ่มต้นให้แต่ละฝ่าย ดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่าง 2 ฝ่ายต่อไปโดยเร็ว ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายประชุมและแสดงเจตจำนงร่วมกัน ในส่วนของประเทศไทย ตนจะนำเข้าหารือเดินหน้าสู่การนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการจัดทำ FTA ไทย-อียู ต่อไป ส่วนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการค้าของสหภาพยุโรป จะนำผลการหารือวันนี้ไปดำเนินการภายในของสหภาพยุโรปขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศต่อไป ตั้งเป้าจะดำเนินการตามกระบวนการภายในให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประกาศนับหนึ่งการเริ่มต้นเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเราใช้ความพยายามในการทำ FTA กับสหภาพยุโรปเกือบ 10 ปีมาแล้วแต่ยังไม่สามารถนับหนึ่งในลักษณะนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ข้อมูลการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปสหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยรองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอียู ปี 2565 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าที่ไทยค้ากับสหภาพยุโรป ประมาณ 7% ของการค้ากับโลก ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ และไทยส่งออกไปอียูปี 2565 คิดเป็น 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท)เพิ่มขึ้น 5.17% สินค้าที่ไทยส่งออกไปอียูส่วนใหญ่ คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ ไก่แปรรูป เป็นต้น สินค้าที่นำเข้าจากอียูสำคัญ เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยาเป็นต้น ปัจจุบันอียูมี FTA กับประเทศอาเซียน 2 ประเทศคือ เวียดนามและสิงคโปร์ ถ้ากระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมายประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ถ้าประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจะมีตลาดการค้าที่ได้เราได้เปรียบคู่แข่งขันจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น 27 ประเทศ เป็นแต้มต่อสำหรับประเทศไทยต่อไปในอนาคต เป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป
โดยตั้งใจว่าจะเสนอเข้า ครม.ให้ได้ภายในสองสัปดาห์นี้ เพราะทางอียูเร่งดำเนินกระบวนการภายในขอคำรับรองจาก 27 ประเทศ ให้เสร็จโดยเร็วเช่นกัน หัวหน้าฝ่ายไทยเป็นกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศโดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเป็นหน่วยงานเจรจาคู่กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของอียูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
- 006