นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ (ก.พ.) อยู่ที่ระดับ 52.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม (ม.ค.)ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเริ่มประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี’63ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 46.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 46.0ในเดือนม.ค.ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 49.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ49.0 ในเดือนม.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 61.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 60.2 ในเดือนม.ค.จะเห็นได้ ดัชนีฯโดยรวมดีขึ้นทุกตัว และสูงสุดในรอบ 36 เดือนนับตั้งแต่มี.ค. 2563
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกสำคัญที่หนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี’66 ที่ภาครัฐมีให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ช้อปดีมีคืน,มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับดีขึ้น ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเริ่มปรับตัวลดลง เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบที่สำคัญที่กระทบกับดัชนีความเชื่อมั่นฯ ได้แก่ ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDPปี’65 ขยายตัวได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ 3.2%, การส่งออกของไทยในเดือนม.ค. 2566 ลดลง 4.5% และความกังวลต่อสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานในกรณีของความกังวลเรื่องค่าไฟฟ้าที่ส่งผลต่อค่าครองชีพนั้นดูเหมือนจะมีทิศทางดีขึ้น โดยล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ได้เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2566มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยสั่งการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาไม่ให้กระทบต่อต้นทุนภาพรวม ซึ่งต้องการดูแลทุกภาคส่วนโดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยที่จะไม่ปรับขึ้นจากปัจจุบันหรืออย่างน้อยจะอยู่ในระดับเดิมคือ 4.72 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้จะกำหนดค่าไฟฟ้าเป็นอัตราเดียวที่ใช้ทั้งบ้านที่อยู่อาศัยและภาคอุตสาหกรรม ต่างจากงวดเดือนม.ค.-เม.ย. ที่แยกเป็น2 อัตรา คือ บ้านอยู่อาศัยอยู่ที่ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ฯลฯ) ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดผลกระทบให้กับบ้านที่อยู่อาศัย
“ค่าไฟในงวดแรกม.ค.-เม.ย. 2566 เป็นอัตราที่พีคสุดแล้ว ขณะที่ปัจจัยต่างที่เป็นต้นทุนก็ปรับตัวดีขึ้น โดยค่าไฟในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะลดลงจากเดิมแน่นอน ทาง กกพ.เตรียมประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นต้องไปดูว่าเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาทุกภาคส่วนเองก็รับภาระมาพอสมควรแล้วซึ่งรัฐเองก็เข้าใจและพยายามดูแลมาโดยตลอด” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี