นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ จ.ชุมพร ประชุมขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ว่า จากการหารือกับภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร สภาหอการค้าจังหวัดชุมพร และสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ได้แสดงความกังวลต่อกระแสข่าวชะลอโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน(จ.ชุมพร จ.ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งขอยืนยันว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการซึ่งเป็นโครงการจากการริเริ่มของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจภาคใต้และเศรษฐกิจประเทศ
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เร่งศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อรองรับแลนด์บริดจ์และสอดรับกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยจะเน้น 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
สำหรับการขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งประกอบด้วย ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่1.การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ เพราะแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าเขา 2.การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ 3.การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ ขณะเดียวกันจะเร่งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะทุกจังหวัดทั่วประเทศ
“เอกชนได้สะท้อนถึงอุปสรรคกฎหมายต่อการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจะเร่งแก้ไขอุปสรรคต่างๆ อาทิ กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ” นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว
จากการลงพื้นที่เยี่ยมชม บริษัท สมบูรณ์ศิลาทอง ถือเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง และโรงโม่ บดและย่อยหิน ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ โดยไม่มีข้อร้องเรียนจากภาคประชาชน ซึ่งบริษัทฯได้ดำเนินกิจการโดยใช้แนวทางตามนโยบาย 4 มิติ ของกระทรวงอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน จนประสบความสำเร็จทั้งการออกแบบการพัฒนาในกระบวนการผลิตและเครื่องจักร ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 30% รวมทั้งการบริหารจัดการวัสดุที่เป็นปลายโปรดักส์ หรือวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นสถานประกอบการที่มีการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันบริษัท สมบูรณ์ศิลาทองมีกำลังการผลิตหินปูนประมาณ 5 แสนตันต่อปี มีปริมาณสำรองแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ประมาณ 6 ล้านตัน จ้างงานแรงงานในพื้นที่ได้มากกว่า 90% และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามาขนส่งแร่และจำหน่าย เป็นการสร้างอาชีพต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ บริษัทอยู่ระหว่างขอประทานบัตรเพิ่มอีก 300 ไร่ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างซึ่งพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงมีความต้องการใช้สำหรับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบน
พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยมีสถานประกอบการที่ได้รับประทานบัตร โรงแต่งแร่ โม่ บด ย่อยหิน จำนวน 160 ราย ส่วนใหญ่เป็นการทำเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยิปซัม แอนไฮไดรด์ โดโลไมต์ เฟลด์สปาร์เป็นต้น มีมูลค่าการส่งออกในปี 2565 จำนวน 3,565.28 ล้านบาท นับว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจฝั่งอ่าวไทยได้เป็นจำนวนมาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี