●● สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เปิดฉากมาเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์แล้ว และกำลังเป็นที่จับตาทั่วโลกว่าสงครามจะขยายวงไปสู่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล ชาติตะวันตก และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางโดยเฉพาะผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างอิหร่านที่จะเข้าร่วมวง และทำให้สงครามขยายวงหรือไม่
สงครามที่เกิดขึ้นได้ทำให้ตลาดน้ำมันทั่วโลกผันผวน และราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ถีบตัวสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ตลาดน้ำมันสงบมาพักใหญ่ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ที่จะปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น
ราคาน้ำมันดิบดูไบทะยานสูงขึ้นเกือบ 5% จากระดับ 84.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนล่าสุดในกลางเดือนตุลาคมกลับมาเฉียด 90 ดอลลาร์สหรัฐอีกครั้งถึงแม้ว่าบางช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวนและปรับลดต่ำลงมาบ้างก็ตาม แม้ว่าตลาดอาจจะมีบางส่วนคาดการณ์ว่า ตลาดน้ำมันอาจจะไม่กระทบมากนัก อิสราเอลผลิตน้ำมันแค่วันละ 300,000 แต่ก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นไปในลักษณะ“ผันผวนขาขึ้น” เพราะเหตุว่าไม่มีใครรับประกันได้ว่าสงครามจะไม่ “บานปลาย” จากประเทศผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายที่แสดงท่าทีเลือกข้างค่อนข้างชัดเจน
นักวิเคราะห์ทางด้านพลังงานสากลมีการประเมินราคาน้ำมันดิบอาจจะแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายใต้สมมุติฐานอุปทานน้ำมันจะตึงตัวราคาจะเพิ่มขึ้นทันที หากอิหร่านร่วมวงและตัดสินใจปิดเส้นทางขนส่งน้ำมันในบริเวณช่องแคบฮอร์มุก ซึ่งมีปริมาณการขนส่งน้ำมันในช่องทางดังกล่าวสูงถึงวันละ 17.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณการขนส่งน้ำมันทั่วโลก
แน่นอนว่าราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทาง และเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำในการการคิดคำนวณราคาเชื้อเพลิงอื่น ได้แก่ ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจรหรือ Spot LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้าของไทยย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ภาวะ “ค่าไฟฟ้าแพง” ที่จะกลับมาอีก และผลกระทบปลายทางกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องรับภาระร่วมกัน ภาวะราคาSpot LNG ได้ปรับตัวจากระดับ 10-11 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในช่วงกลางปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ13-14 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในช่วงเดือนกันยายนหลังเหตุการณ์สงครามราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 18.4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในวันที่ 20 ตุลาคมและน่าจะแพงขึ้นอีก โดยคาดการณ์กันว่ามีแนวโน้มสูงที่จะปรับตัวมาอยู่ในระดับ 19-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในช่วงปลายปีนี้
โดยสรุปผลจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ยืดเยื้อมากว่าช่วงสองสัปดาห์ที่ทำให้ ฉากทัศน์ ด้านราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มขึ้น 5-6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และค่าเงินบาทอ่อนตัวลงจาก 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สงครามอิสราเอล-ฮามาส น่าทำให้ “โจทย์ ของรัฐบาลเปลี่ยน” และน่าที่จะต้องทบทวน เพื่อทำการบ้านใหม่ เพราะว่าจากการประกาศนโยบายลดราคาพลังงานทั้งระบบโดยทันทีของรัฐบาล ด้วยการแทรกแซง อุดหนุนราคาขายปลีกทั้งพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน และหวังว่าการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน สามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการทำธุรกิจของภาคเอกชนจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว วันนี้อาจเป็นความเสี่ยงไปเสียแล้ว
การระดมทรัพยากรทางการเงินจำนวนมหาศาลของภาครัฐ ทั้งการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน การอุดหนุนโดยกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่ออุดหนุนราคาขายปลีกทั้งน้ำมันดีเซล และทั้งน้ำมันเบนซิน 91 การยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการยืดหนี้ค่าก๊าซของ ปตท. เพื่อกดค่าไฟให้ต่ำกว่าความเป็นจริงท่ามกลางความผันผวนของราคา “เชื้อเพลิงขาขึ้น” จึงน่าจะเป็นเพียงการ “ฝืนตลาด” หลอกตัวเอง ด้วยการเอาเงินมหาศาลไปซื้อเวลา เพื่อชะลอการรับ “แรงกระแทก” จากคลื่นราคาพลังงานที่ปั่นป่วน และพร้อมที่จะถาโถมเข้าใส่ทุกคนได้ตลอดเวลา
ความดีอกดีใจที่ได้ใช้ไฟถูก น้ำมันถูก จึงเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วตรรกะที่ถูกต้องคือ การที่เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าแพงขึ้น ค่าไฟก็ย่อมแพงขึ้น น้ำมันดิบที่แพงขึ้นน้ำมันเชื้อเพลิงก็ย่อมต้องแพงขึ้นเป็นธรรมดา แต่ความพยายามที่จะฝืนตรรกะ ด้วยการให้ทุกหน่วยงานแทรกแซง อุดหนุน ราคาที่ทำกันอยู่ในตอนนี้มันไม่จีรังยั่งยืน ไม่ยั่งยืนทั้งคะแนนนิยมที่ได้รับ และไม่ยั่งยืนทั้งฐานะทางการคลัง และไม่ยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศรัฐบาลควรสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนด้วยว่าพลังงานแพงก็ต้องช่วยกันประหยัด ไม่ใช่ว่าพลังงานแพงไม่เป็นไรเดี๋ยวรัฐบาลดูแล และที่สำคัญควรต้องบอกให้หมดว่า ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จะแทรกแซง หรืออุดหนุน คือหนี้อนาคตที่ประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องชดใช้ และควรเปิดโอกาสให้กลไกที่มีอยู่ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพในทิศทางที่ถูกต้องอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ คำว่า “มาตรการชั่วคราว” ของทุกรัฐบาลอ้าง กลายเป็นว่าวันนี้ประชาชนคุ้นชินกับการต่ออายุมาตรการจนจะกลายเป็น “มาตรการถาวร” ไปเสียแล้วเพราะสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ คือ ความมีเสถียรภาพของราคาอย่างความยั่งยืน ไม่ใช่ภาพลวงตาจากราคาพลังงานถูกในดังเช่นในปัจจุบัน ประชาชนเราๆ ท่านๆ ควรเตรียมใจและเตรียมรับมือกับค่าไฟฟ้าที่จะแพงขึ้นค่าน้ำมันก็จะแพงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปีหน้าอย่างแน่นอน
“ปัจจัยและความท้าทายในภาคพลังงาน 1.คณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่ยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน30 บาท/ลิตร 2.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ยังตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง อันจะส่งผลกระทบต่อฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ฐานะติดลบอยู่ที่ 68,000ล้านบาท และในส่วนค่าไฟฟ้าที่ยังเป็นภาระของ กฟผ. ที่แบ่งรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไว้ 138,345 ล้านบาท และ ปตท. ก็แบกรับภาระค่าก๊าซธรรมชาติไว้ 8,000-9,000 ล้านบาท”
กระบองเพชร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี