นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์นิวยอร์ก ถึงโอกาสของอาหารว่างจำพวกโปรตีน (Protein snack) ในสหรัฐฯที่กำลังเติบโตจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงประโยชน์และบทบาทของโปรตีนในการสร้างกล้ามเนื้อและทำให้ร่างกายอิ่มนานมากขึ้น ประกอบกับตารางเวลาที่จำกัด ทำให้ผู้บริโภคมองหาของขบเคี้ยวที่พกพาสะดวกและมีประโยชน์ต่อร่างกาย และความหลากหลายของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในตลาดปัจจุบัน ทั้งจากพืชและจากสัตว์ ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารจำพวกโปรตีนเพิ่มมากขึ้น
ในปี 2566 อาหารว่างจำพวกโปรตีนมียอดการจำหน่ายประมาณ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงปี 2567-2572 น่าจะขยายตัวเฉลี่ย 9.3% และ Market Data Forecastยังคาดว่าในปี 2572 ตลาดอาหารว่างจำพวกโปรตีนน่าจะมีมูลค่าถึง 7,640 ล้านเหรียญสหรัฐ
ประเภทของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในตลาดสหรัฐฯ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆได้แก่ 1.ของว่างประเภทแท่ง เช่น เนยถั่วแท่ง โปรตีนช็อกโกแลตชิปแท่ง กราโนล่าแท่งและผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร และ 2.ของว่างที่ไม่ใช่แท่ง เช่น ธัญพืชผสมผลไม้แห้ง เนื้ออบแห้ง โยเกิร์ต ถั่วเหลืองอ่อน ขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบที่ทำมาจากธัญพืช อาทิ ถั่วชิกพี ถั่วเลนทิลหรือแป้งข้าวกล้อง เนยถั่วแบบพกพาและสมูทตี้ (protein smoothie) เป็นต้น
กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายแบ่งได้เป็น4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มบุคคลที่ใส่ใจสุขภาพ เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและต้องการผนวกโปรตีนเข้ากับอาหาร 2.กลุ่มบุคคลที่มีไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉง เช่น นักกีฬา ผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายและผู้ที่ต้องใช้พลังงานมาก 3.กลุ่มบุคคลที่มีตารางชีวิตค่อนข้างแน่นหรือมีอาชีพการงานที่ค่อนข้างยุ่ง นิยมพึ่งพาของว่างที่พกพาสะดวกเพื่อเติมพลังงาน 4.กลุ่มผู้บริโภคที่ควบคุมอาหารและมีความต้องการเฉพาะเจาะจง เช่น อาหารที่มีโปรตีนสูงคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาหารวีแกนหรืออาหารมังสวิรัติ
ด้านช่องทางการจำหน่าย มีหลายช่องทางดังนี้ 1.ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ Walmart, Target, Kroger และ Meijer 2.ร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven, Wawa และ Casey’s 3.ร้านค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ Whole Foods Market, Sprouts Farmers Market และ GNC และ 4.ช่องทางออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของ Amazon ร้านค้าปลีกออนไลน์เฉพาะที่เชี่ยวชาญด้านขนมเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก
“นับเป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพเช่นของกินเล่นจำพวกถั่ว หนังไก่อบกรอบ ปลาอบแห้ง สาหร่ายอบกรอบ อาหารว่างที่ทำจากพืชและอื่นๆ ซึ่งต้องเน้นปริมาณโปรตีนและประโยชน์บนบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน รสชาติต้องมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น รสชาติเผ็ดร้อนจากต้มยำ รสชาติหวานเผ็ดจากน้ำจิ้มไก่และรสชาติเผ็ดร้อนของน้ำจิ้มซีฟู้ด ต้องหลากหลาย เช่น เนื้อแดดเดียว เค้กข้าวเพิ่มโปรตีน ถั่วและเมล็ดพืชผสมผงปรุงรสหรือผลไม้ที่มีประโยชน์ หนังไก่อบแห้งและอื่นๆ และควรหาช่องทางบุกตลาดผ่านออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ มาช่วยรีวิวสินค้าจะทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น”นายภูมิธรรมกล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี