สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เดินหน้าส่งเสริมการเลี้ยงชันโรงให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนไทย ผ่านโครงการ "Big Brothers" ระยะที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Big Brothers นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง” มุ่งยกระดับการเลี้ยงชันโรงจากอาชีพเสริมสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้มั่นคง ด้วยพลังของงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมขยายเครือข่ายสู่จังหวัดสระบุรี โดยร่วมกับภาคเอกชนที่เข้ามาเป็น "พี่เลี้ยง" ถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และการบริหารธุรกิจ เพื่อให้เกษตรกรสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน
ชันโรงเป็นผึ้งพื้นถิ่นที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ ช่วยเพิ่มอัตราการผสมเกสรให้พืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะไม้ผล เช่น มะม่วง ลำไย และกาแฟ อีกทั้งยังเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน ด้วยคุณสมบัติที่เลี้ยงง่าย ลงทุนน้อย แต่ให้ผลตอบแทนสูง น้ำผึ้งชันโรงเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีมูลค่าสูง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและบำรุงสุขภาพ และได้รับความนิยมในตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพ โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ในการเลี้ยงชันโรงอย่างเป็นระบบ เพิ่มผลผลิตโดยการใช้อาหารเสริมที่พัฒนามาจากงานวิจัยและเพิ่มมูลค่าของน้ำผึ้งชันโรง รวมถึงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยใช้น้ำผึ้งชันโรงเป็นส่วนผสม เช่น แยมไซรัปเลมอนผสมน้ำผึ้งชันโรง น้ำเลมอนผสมน้ำผึ้งชันโรง การนำเอากากของชันที่ไม่ได้ใช้แล้ว นำไปผลิตเป็นสบู่นมแพะผสมน้ำผึ้งชันโรง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน
เมื่อปี 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ “Big Brothers นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม น้ำผึ้งชันโรง” ในระยะที่ 1 ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน ประกอบด้วย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) เป็นการนำเอางานวิจัยมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงโดยการผลิตอาหารเสริมเพื่อเลี้ยงชันโรงเป็นการเพิ่มผลผลิตของน้ำผึ้งชันโรง เกิดการส่งเสริมการเลี้ยงชันโรงในจังหวัดระยอง ขอนแก่น และสมุทรปราการ เกิดเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง ขยายตลาด และเกิดการผลิตอาหารเสริมเพื่อเลี้ยงชันโรงขึ้น
การขับเคลื่อนโครงการ "Big Brothers" ในระยะที่ 2 จะขยายสู่จังหวัดสระบุรี โดยเน้นการสร้างต้นแบบการเลี้ยงชันโรงที่เหมาะสมกับพื้นที่ พัฒนาเทคนิคการเก็บเกี่ยว และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อเข้าสู่ตลาดสุขภาพระดับพรีเมียม ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ความร่วมมือนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของการใช้พลังของงานวิจัยและภาคธุรกิจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ให้กับเศรษฐกิจฐานรากของไทย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือนี้ว่า น้ำผึ้งชันโรงไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โครงการ Big Brothers แสดงให้เห็นว่างานวิจัยที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้จริง เรากำลังช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกใหม่ที่มั่นคง เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำองค์ความรู้ทางวิจัยมาผสานกับศักยภาพของชุมชน จะช่วยสร้างธุรกิจที่เติบโตได้จริงและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง
ทั้งนี้บทบาทสำคัญของ วช. ในโครงการนี้คือการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของน้ำผึ้งชันโรง รวมถึงการผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจที่มีมาตรฐาน ขณะที่ภาคเอกชนในฐานะ "Big Brothers" เข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ การวางกลยุทธ์ทางการตลาด และการขยายช่องทางการจำหน่าย ทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี