นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบาย "สู้ เซฟ สร้าง" ภายใต้แนวทาง "ปฏิรูปอุตสาหกรรม ไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" โดยทุกภาคส่วนในกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการตามนโยบายเพื่อ Save อุตสาหกรรมไทย และ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อช่วยให้โรงงานสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมประกาศชัดว่าหากโรงงานใดยังละเลยและฝ่าฝืนกฎหมาย กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการปิดกิจการอย่างเด็ดขาด
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เดินหน้าส่งเสริมและผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมได้รับการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวทุกแห่งภายในปี 2568 ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดตัวชี้วัดและกลไกติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ
นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการผ่านกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปี 2568 โดยเดินสายจัดโรดโชว์ จำนวน 10 ครั้งทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ข้อกำหนดอุตสาหกรรมสีเขียว (ฉบับปรับปรุง) การประเมินความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านระบบ Thailand i4.0 Checkup การจัดทำแผนงานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DIW) คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO) และการใช้งานระบบ GI Platform เพื่อบริหารจัดการข้อมูลสีเขียวอย่างเป็นระบบ แก่ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับพันธมิตรเพิ่มแรงจูงใจด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งประกอบด้วย 1. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดโครงการ BDS ให้เงินอุดหนุนแบบร่วมจ่าย (Copayment) 50–80% สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท/ปี ให้แก่ SME ที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจ เช่น การขอรับรองมาตรฐาน ISO หรือการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์
2. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนเครื่องมือประเมินองค์กรผ่าน Thailand i4.0 CheckUp พร้อมให้คำปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อยกระดับสู่ Industry 4.0
3.โปรแกรม ITAP ของ สวทช. สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีตามโจทย์ของผู้ประกอบการ พร้อมช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ 50% และคำปรึกษาเชิงลึกเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว
4. ธนาคารกรุงไทย เสนอสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย 3 ปี วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสีย สินเชื่อส่วนเกินไม่มีเพดาน ดอกเบี้ยคงที่ 3% ตลอดอายุโครงการ
5. SME D Bank ให้กู้ผ่านโครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” สำหรับผู้ประกอบการที่มีคนงานไม่เกิน 200 คน หรือทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 3% นาน 3 ปี และมีระยะเวลาโครงการสูงสุด 10 ปี
6. EXIM Bank เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.5% สำหรับ 2 ปีแรก วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท แก่ SME ที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวและอยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมส่งออก
7. กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มอบโครงการสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) วงเงิน 1 – 20 ล้านบาท ไม่เกิน 7 ปี ดอกเบี้ย 3% 3 ปีแรก ปีถัดไปอัตรา MLR โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 4 - 5% ไม่เกิน 10 ปี โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธรุกิจ (คงกระพัน) สูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 5 – 7% ไม่เกิน 3 ปี
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้กำหนดตารางการจัดอบรมอีก 9 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการขับเคลื่อนสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างครอบคลุมในทุกภูมิภาค
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี