นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออกเดือนมีนาคม2568 เท่ากับ 111.0 ลดลง 0.6% ขยายตัวชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ปัจจัยหลักจากราคาสินค้าเกษตรบางกลุ่มลดลง จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลง ส่งผลให้สินค้าเกี่ยวเนื่องลดลงตามไปด้วย แต่ก็มีหลายสินค้าที่ส่งออกเพิ่ม จากการเร่งส่งออกก่อนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ดัชนีราคานำเข้า เท่ากับ 114.3 ลดลง 2.8% เป็นผลจากราคาสินค้าเชื้อเพลิงลดลงแต่กลุ่มสินค้าทุน วัตถุดิบ และอุปโภคบริโภค ยังขยายตัวตามความต้องการภายในประเทศและส่งออก
ดัชนีราคาส่งออกที่ลดลงมาจากการหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลด 10.1% โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลงและหมวดสินค้าเกษตรกรรมลด 2.9% ได้แก่ ข้าว ตามภาวะอุปทานส่วนเกินจากสต็อกข้าวโลกที่อยู่ในระดับสูงและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นรวมถึงความต้องการในตลาดจีนมีแนวโน้มลดลง
หมวดสินค้าที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วยหมวดสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 1.5% ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สำหรับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดต่างประเทศ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 1.3% ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบปรับสูงขึ้น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป
ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าที่ลดลงมาจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลด 6.1% โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบจากอุปทานส่วนเกินและความต้องการที่ชะลอตัว หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีบางสินค้าราคาสูงขึ้น คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อใช้ในการผลิตและส่งออกของประเทศ
หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่ม 8.1% ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องประดับอัญมณี และผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ตามความต้องการเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประเทศ
หมวดสินค้าทุน เพิ่ม 4.6% ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัล หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพิ่ม 4.5% โดยเฉพาะทองคำ เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อสงครามการค้าสำหรับอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสินแร่โลหะอื่น ๆ ตามความต้องการนำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ
แนวโน้ม ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลง เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนให้ดัชนีฯขยายตัว ได้แก่ ฐานราคาปี 2567 ในช่วงครึ่งปีแรก ยังอยู่ในระดับต่ำ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังขยายตัวได้ดี และต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ ราคาสินค้าเกษตรลดลง จากปัญหาอุปทานส่วนเกิน การแข่งขันทางด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และความผันผวนของเงินบาท
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี