นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย เดือนเมษายน 2568 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2567
หดตัวจากราคาสินค้าในทุกหมวด โดยราคาสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่สูงในตลาดโลก และอุปทานส่วนเกินที่สูง ส่งผลให้ภาพรวมของราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีทิศทางเคลื่อนไหวตามราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตในภาพรวมที่ลดลง ประกอบกับอุปสงค์ที่ลดลงจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศตามภาวะการค้าโลกที่ไม่แน่นอo
โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนเมษายน 2568 เท่ากับ 110.2 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 ลดลง 3.2% (YoY) เป็นผลจากการลดลงของราคาสินค้า หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลง 6.5% จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า จากฐานราคาของปีก่อนที่สูง ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญยกเลิกมาตรการระงับการส่งออก อ้อย จากฐานราคาของปีก่อนที่สูงจากภาวะแล้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่สูงในปี 2568 นี้ ส่งผลให้ราคาลดลง หัวมันสำปะหลังสด จากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามความต้องการที่ลดลงในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ยางพารา จากราคาส่งออกในปีนี้ที่ลดลงตามภาวะการค้าโลกที่ไม่แน่นอน พืชผัก (มะนาว พริก กระเทียม) จากฐานของปีก่อนที่สูงจากภาวะแล้ง และ โคมีชีวิต จากความต้องการบริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มลดลง
สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย ข้าวเปลือกเหนียว จากความต้องการบริโภคในประเทศที่สูงขึ้น ผลปาล์มสด จากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่มีน้อย ในขณะที่ความต้องการสินค้าเพิ่มจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลไม้ (ทุเรียน มะพร้าว สับปะรดโรงงาน) จากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สุกรมีชีวิต จากปริมาณผลผลิตในภาพรวมที่ลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคในปีนี้ปรับตัวดีขึ้น และกุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตที่มีน้อยจากต้นทุนการเพาะเลี้ยงที่สูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง 3.0% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก สินแร่โลหะ (แร่เหล็ก สังกะสี) จากการชะลอตัวของอุปสงค์ และการแข่งขันในตลาดโลก และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ได้จากการทำเหมือง (ยิปซัม เกลือ) จากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลง 2.8%
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เนื่องจากเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น เอทานอล สารพอลิเมอร์และสารเคมีอินทรีย์อื่นๆ ปุ๋ยเคมี และยางสังเคราะห์ ปรับราคาตามวัตถุดิบที่ลดลง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น ท่อเหล็กกล้า เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี เนื่องจากวัตถุดิบที่ปรับลดลง การแข่งขันและอุปสงค์ที่ชะลอตัว และกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำและวงจรรวม Integrated Circuit (IC) อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และอุปกรณ์รับข้อมูล/แสดงผล ปรับตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง
ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ เคลื่อนไหวตามอุปสงค์ของตลาดโลก กลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถกระบะ รถบรรทุกขนาดเล็กและรถบรรทุกขนาดใหญ่ ปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบ กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ สายไฟ สายเคเบิล ซึ่งมีการปรับราคาตามวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ อิฐก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ซีเมนต์ผสม จากปริมาณอุปสงค์การก่อสร้างในประเทศที่เพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพฤษภาคมปี 2568 มีแนวโน้มทรงตัว หรืออาจหดตัวเล็กน้อย โดยมีปัจจัยกดดันจาก 1.สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเข้ามาเพิ่มขึ้น จากการระบายสินค้าอุปทานส่วนเกินของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ กดดันราคาสินค้าของผู้ผลิตในประเทศ 2.การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดผู้ส่งออกสินค้าเกษตร กดดันราคาผลผลิตทางการเกษตรในภาพรวมต่อเนื่อง 3.ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง 4.การแข่งขันด้านราคาของผู้ผลิตสินค้าทุนในประเทศ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทาน และ 5.ค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่า กระทบต่อราคาสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือราคาผลผลิตทางการเกษตรของภาครัฐ
อย่างไรก็ตามมาตรการด้านภาษีของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าของไทย รวมถึงประเทศคู่ค้าสำคัญ ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในทิศทางใด ทั้งนี้จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายพูนพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนเมษายน 2568 ปรับตัวลดลงในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญ และคำสั่งซื้อจากตลาดปลายทางที่ลดลงในภาพรวม ทั้งนี้เห็นว่าควรมีมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ ภายใต้ภาวะการค้าในตลาดโลกมีความผันผวน
-032
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี