นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมการประชุมกลไกการหารือไทย-ญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industry Dialogue : EID) ครั้งที่ 1 โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และนายมุโต โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เป็นประธานร่วมฝ่ายญี่ปุ่น ในกลไก EID เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายสูงสุดของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียุคใหม่ และพลังงานสะอาด เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต และสังคมคาร์บอนต่ำของสองประเทศ
สำหรับการประชุมครั้งนี้ เกิดจากที่ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับความร่วมมือมาเป็นการประชุมความร่วมมือระดับสูง ด้านพลังงานและอุตสาหกรรม ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งไทยและญี่ปุ่นนอกจากจะมีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนร่วมกันแล้ว ยังเป็นประเทศที่มีความผูกพันในทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอย่างยาวนาน สร้างให้เกิดความร่วมมือกันอย่างรอบด้าน
“ขอบคุณทางญี่ปุ่นที่ไว้วางใจสร้างฐานการลงทุนในไทยหลายอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ ตลอดการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 60 ปี รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมยึดมั่นนโยบายที่เปิดกว้างและสนับสนุนผู้ผลิตนานาชาติอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เกิดความหลากหลายและการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ”นายเอกนัฏ กล่าว
ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการสร้างกลไกความร่วมมือนี้ เปรียบเสมือนการสร้างชิ้นส่วนพิเศษเข้าไปในเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้อย่างราบรื่น และปลอดภัย รวมทั้งจะเป็นการเติมพลังงานใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้เกษตรกร ซึ่งเป็นฐานรากของเศรษฐกิจประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการใช้พลังงานชีวภาพที่ผลิตได้ภายในประเทศ และผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศไทยเติบโตได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
ทั้งนี้ภายหลังจากการหารือ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างหน่วยงานภาคเอกชนของญี่ปุ่นกับหน่วยงานของไทย จำนวน 9 ฉบับ ได้แก่
1.การศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันเกี่ยวกับระบบสลับแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ระหว่าง บริษัท อีซูซุมอเตอร์ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด และ บริษัท วี.คาร์โก จำกัด
2.ความร่วมมือด้านการศึกษาวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (xEV)ระหว่าง บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
3.ความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาคอุตสาหกรรม ระหว่าง สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) (TPA) สมาคมความร่วมมือทางเทคนิคกับต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (AOTS) และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI)
4.ความร่วมมือด้านการจับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศ ระหว่าง บริษัท Kokopelli และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
5.ความร่วมมือเทคโนโลยีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโครงสร้างการจัดหาไนลอนจากชีวมวลที่ไม่ใช้เป็นอาหาร ระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเร อินดัสทรีส์ จำกัด
6.ความร่วมมือด้านการลดคาร์บอน ระหว่าง บริษัท Zeroboard และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
7.ความร่วมมือทางธุรกิจ ระหว่าง บริษัท ExtraBold Inc. และบริษัท ไทเซอิ (ประเทศไทย) จำกัด
8.ความร่วมมือเชิงรุกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ระหว่าง บริษัท ซีพีจี และบริษัท คาโอ
9.ความร่วมมือแบบครบวงจรเพื่อส่งมอบคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมขั้นสูง ระหว่างกลุ่มบริษัท ซีพี (CP Group) และบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค
“ตามนโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง” ของตนมีความสอดคล้องกับแนวทางความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย และเป็นการ “สร้าง” ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถปรับตัว เชื่อมโยงกับความหลากหลายของตลาดโลก และสร้างให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานรองรับยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สำคัญ อย่างเช่น Software Defined Vehicles(SDVs) และระบบช่วยขับขี่ขั้นสูง (Advanced Driver Assistance System: ADAS) โดยเฉพาะในส่วนของการออกแบบ และการทดสอบ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของทั้งสองประเทศ” นายเอกนัฏ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี