นายนนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5:2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% เพราะ กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น ตามนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงกว่าที่เคยประเมินไว้ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ขณะที่ภาวะการเงินยังคงตึงตัว มองไปข้างหน้า กนง. เห็นว่าสถานการณ์สงครามการค้ามีแนวโน้มยืดเยื้อและทอดยาวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าและการผลิตโลก ซึ่งทำให้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงมาก
สำหรับมุมมองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อทั่วไป กนง. นำเสนอประมาณการใน 2 ฉากทัศน์ โดยไม่ได้ระบุชัดว่ามองกรณีใดเป็นกรณีฐาน ได้แก่ Reference Scenario มีสมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะคงระดับภาษีสินค้านำเข้าเท่ากับอัตราที่มีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าไทยจะถูกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 10% (ยกเว้นสินค้าบางหมวดที่มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มเติม) โดยสถานการณ์ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ จะทอดยาวถึงสิ้นปี 2026 ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยในปี 2025 และ 2026 จะขยายตัวได้ที่ 2.0%YOY และ 1.8%YOY ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2025 และ 2026 อยู่ที่ 0.5% และ 0.8% ตามลำดับ และ Alternative Scenario มีสมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษี Reciprocal tariff ครึ่งหนึ่งของที่เคยประกาศไว้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ Technical recession ภายในปีนี้ ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยในปี 2025 และ 2026 จะขยายตัวได้ที่ 1.3%YOY และ 1.0%YOY ตามลำดับขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2025 และ 2026 อยู่ที่ 0.2% และ 0.4% ตามลำดับ
ทั้งนี้ในการสื่อสารครั้งนี้ กนง. มองว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย เอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อสถานการณ์การค้าโลกที่มีความตึงเครียดและผันผวน โดยไม่ได้ให้คำนิยามว่าเป็น Easing cycle แต่อย่างใด เนื่องจาก Shock ที่เข้ามากระทบกับเศรษฐกิจไม่ได้มีลักษณะที่เป็น Shock ครั้งเดียวและรุนแรงดังเช่นในวิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis) แต่พร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารในครั้งก่อน ๆ ที่พยายามเน้นย้ำว่านโยบายการเงินยังควรมีสถานะเป็นกลาง (Neutral) ต่อเศรษฐกิจ กล่าวคือไม่ได้เร่งหรือฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ
SCB EIC ประเมินว่านโยบายการเงินจะต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก เนื่องจากปัจจุบันภาวะการเงินของไทยยังคงตึงตัวเทียบกับในอดีต แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลายครั้งแล้ว โดยนอกจากสถานการณ์ในประเทศที่สินเชื่อหดตัว และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ดัชนีค่าเงินบาทยังคงแข็งค่ากว่าในอดีตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ภาวะการเงินที่ยังตึงตัวอยู่ชี้ให้เห็นว่า กนง. อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เพื่อให้ภาวะการเงินเอื้อต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มจะขยายตัวชะลอลงอย่างมาก และ อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องปรับลดลงไปต่ำกว่าช่วง Trade War 1.0 (2018-2019) โดยในสงครามการค้าครั้งแรกมีการขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมเท่านั้น ขณะนั้นนโยบายการเงินมีลักษณะผ่อนคลาย โดยค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่เพียง 0.3% เท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับในปัจจุบันที่สงครามการค้ารุนแรงขึ้นมาก และไทยได้รับผลกระทบทางตรงที่รุนแรง แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในปัจจุบัน (ซึ่งคิดรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้แล้ว) อยู่ที่ 0.7% การรับมือกับสงครามการค้ารอบนี้ที่รุนแรงขึ้นมาก จึงอาจต้องอาศัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำลงกว่าอดีต
SCB EIC จึงมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี 2025 เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นมาก จากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบกับความตึงตัวของภาวะการเงินที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้จะต่ำกว่าช่วงปี 2018–2019 ที่เกิดสงครามการค้า 1.0 ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งขณะนั้นไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี