นางสาวธนพร เพชรจิรพงศ์ นักวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2569 คาดว่า มูลค่าตลาดเชื้อเพลิงขยะ RDF เพิ่มขึ้นราว 15.1% จากการสนับสนุนของภาครัฐในด้านการจัดการกับปัญหาขยะ และการเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานทดแทน
ความต้องการ RDF ในภาคไฟฟ้า คาดว่า จะมีการเติบโตราว 16.8% ในปี 2569 จากการที่มีโรงไฟฟ้าขยะที่ถึงกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ ในขณะที่ ความต้องการ RDF สำหรับผลิตพลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต คาดว่า เพิ่มขึ้น 10.8% จากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนและการลดการพึ่งพาถ่านหินจากมาตรการ CBAM
ปี 2569 จำนวนขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น 2.2 %
ปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้มเติบโตตามพฤติกรรมการบริโภคที่ส่งผลให้จำนวนขยะต่อคนจะเพิ่มขึ้นสู่ 1.16 กก./คน/วัน แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอย จากพฤติกรรมการบริโภค เช่น การสั่งอาหารออนไลน์ และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ภาครัฐต้องผลักดันนโยบายเพื่อจัดการกับปัญหาขยะล้นเมือง หนึ่งในนโยบายหลักคือ การนำขยะไปแปรรูปเพื่อผลิตพลังงาน เช่น การแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse Derived Fuel) โดยวิธีนี้ไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะคงค้าง แต่ยังนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรในการผลิตพลังงานอีกด้วย
ปี 2569 ปริมาณ RDF ในภาคไฟฟ้าโต 16.8%
ปริมาณ RDF ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีการเร่งตัวจากปีก่อนเนื่องจากในปี 2569 จะมีโรงไฟฟ้าขยะกำลังการผลิตรวม 70 เมกะวัตต์ ที่ถึงกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ ความต้องการ RDF สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการส่งเสริมของภาครัฐที่มีการตั้งอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะสูงกว่าพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 282.98 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2568-2569 มีอัตรารับซื้ออยู่ที่ 3.66 – 5.78 บาท/หน่วย ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์และลมที่มีอัตรารับซื้ออยู่ที่ 2.22 บาท/หน่วย และ 3.10 บาท/หน่วย ตามลำดับ โดยอัตรารับซื้อไฟที่สูงกว่านี้ได้ดึงดูดผู้ประกอบการมาลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะชุมชนมากขึ้น ทำให้คาดว่าความต้องการ RDF แตะ 6 ล้านตัน ในปีหน้า
ปี 2580 ความต้องการ RDF สำหรับภาคไฟฟ้าจะมากถึง 15 ล้านตัน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก พ.ศ 2567-2580 (ร่างแผน AEDP 2024) ที่มีเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 1,142 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กกพ. ยังไม่มีแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติมจากข้างต้น แต่ได้เตรียมการที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ขยะอุตสาหกรรมที่ผลิตในโรงงาน จึงไม่กระทบความต้องการ RDF จากขยะชุมชน
ปี 2569 ปริมาณ RDF ในภาคผลิตพลังงานความร้อนโต 10.8%
การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนและลดการพึ่งพาถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ ปริมาณความต้องการ RDF ในการผลิตพลังงานความร้อนแตะ 3.4 ล้านตัน คาดว่าในปี 2569 การใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานความร้อนจะลดลง 6.6% โดยการใช้ RDF จะเพิ่มขึ้นราว 3 แสนตัน (รูปที่ 6) แม้ว่าต้นทุนการใช้ RDF ในการผลิตพลังงานความร้อนจะสูงกว่าถ่านหิน แต่ด้วยมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป (EU) ที่เก็บค่าธรรมเนียมสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ เช่น ปูนซีเมนต์ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
ในปี 2569 รายได้ตลาดเชื้อเพลิงขยะ RDF เพิ่มขึ้น 15.1%
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ RDF ทั้งจากภาคผลิตไฟฟ้าและความร้อนส่งผลให้ รายได้ของตลาดเชื้อเพลิงขยะ RDF ขยายตัวมากกว่าปี 2568 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศอาจไม่เพียงพอสำหรับความต้องการ RDF ในอนาคต จากจำนวนขยะมูลฝอยทั้งหมด มีเพียง 35% หรือ ราว 9.5 ล้านตัน ที่สามารถนำไปแปรรูปเป็น RDF ได้ (รูปที่ 8) ขยะที่เหลือจะเป็นส่วนที่ไม่เหมาะสำหรับแปรรูปเป็น RDF หรือ ถูกนำไปรีไซเคิล โดยในปี 2567 กว่า 82% ของขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปแปรรูปเป็น RDF ได้ถูกนำไปผลิตจริงแล้ว ดังนั้น การเติบโตของขยะมูลฝอยของประเทศไทยอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของความต้องการ RDF ทั้งในภาคไฟฟ้า และภาคผลิตพลังงานความร้อน ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทำให้ในระยะข้างหน้า การคัดแยกและรวบรวมขยะอย่างถูกต้องเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องผลักดันเพื่อที่จะเพิ่มปริมาณขยะมูลฝอยที่สามารถแปรรูปเป็น RDF ได้
ความเสี่ยงของธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF
ความต้องการ RDF ในภาคการผลิตไฟฟ้ามีความไม่แน่นอน เนื่องจากขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ พลังงานจากขยะยังต้องแข่งขันกับพลังงานสะอาดประเภทอื่น ๆ ที่ภาครัฐอาจสนับสนุนมากกว่า เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำกว่าถึงเท่าตัว
ห่วงโซ่อุปทานของเชื้อเพลิงขยะต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหลายหน่วยงานของภาครัฐ เช่น การจัดเก็บขยะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย ส่วนการกำหนดนโยบายการรับซื้อพลังงานเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน เป็นต้น การทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานนี้จำเป็นต้องมีความสอดคล้อง เพื่อสนับสนุนความพร้อมของอุปทาน RDF ในภาคพลังงาน
ธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF อาจเผชิญความเสี่ยงจากการที่ปริมาณขยะมูลฝอยถูกนำไปรีไซเคิลมากขึ้น แทนที่จะถูกนำไปแปรรูปเป็นพลังงาน สำหรับประเทศไทย ระหว่างปี 2556-2566 อัตราการเติบโตของขยะที่ถูกรีไซเคิลสูงกว่าการรวบรวมขยะเพื่อผลิตพลังงานถึง 3.0%
การเติบโตของธุรกิจ RDF อาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากกระบวนการผลิตพลังงานจากขยะมักมาจากการเผาไหม้ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้พลังงานขยะอาจถูกลดบทบาทได้ในอนาคตจากข้อกำหนดสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่สหราชอาณาจักรจะนำพลังงานขยะเข้าสู่ระบบสิทธิการซื้อขายใบรับรองการปล่อยคาร์บอน (Emission Trading Scheme) ในปี 2571 ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลด้านมลพิษจากพลังงานขยะ
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี