ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อเปิดทางให้มีการออกโทเคนดิจิทัลของภาครัฐ (G Token) ตามมาตรา 10 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ เพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนที่มีคุณภาพของประชาชนโดยผลักดันให้ G Token เป็นเครื่องมือใหม่ของการระดมทุนภาครัฐ เป็นการนำเทคโนโลยีการเงินมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้ประชาชน และช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนจะออกเครื่องมือระดมทุนแบบใหม่ของภาครัฐ คือ Thailand Digital Token เพื่อเป็นทางเลือกการออมให้กับประชาชนเพิ่มเติมจากรูปแบบเดิมที่มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนรายย่อยได้มากขึ้นให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินและลงทุนในจำนวนน้อยได้ โดยคาดว่าจะทดลองระบบด้วยการออกงวดแรกราว 5 พันล้านบาทบวก/ลบภายใน 1-2 เดือนนี้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รับทราบวามคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพิจารณาแล้วว่าโทเคนดังกล่าวจะไม่ได้นำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) และจะทำในสัดส่วนที่เหมาะสม แต่รายย่อยจะสามารถนำโทเคนไปแลกเปลี่ยนมือได้ผ่านระบบ Exchange ที่มีอยู่ได้
“ ในแต่ละปีนั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ต้องมีการออกพันธบัตรกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่เป็นประจำ แต่ว่าเมื่อมีการอนุมัติให้มีการระดมทุนโดยให้มีการออกโทเคนได้ก็จะทำให้ประชาชนรายย่อยสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้นและได้ผลตอบแทนดีกว่า และสม่ำเสมอกว่า โดยเป็น การลงทุนระยะยาวและสม่ำเสมอ โดยประชาชนสามารถซื้อหลักพัน หรือหลักร้อยก็ได้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถขยายฐานการลงทุนได้ และเป็นการวางรากฐานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย และการออกไทยแลนด์ดิจิทัลโท เคนครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ โดยไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ และไม่ได้เป็นประเภทคริปโตเคอเรนซี่ “ นายพิชัยกล่าว
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่าการออก G Token ถือเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อลงทุนและออมเงินในระยะยาว โดยวัตถุประสงค์ มุ่งไปที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ประชาชนคนตัวเล็ก เพราะว่าการออกโทเคนนี้ประชาชนสามารถซื้อได้ถึงหลักหน่วย และยืนยันว่าไม่ใช่การกู้เงินใหม่ ไม่ใช่คริปโตฯ โดยการออกพันธบัตรนี้จะใช้วงเงินเดิมในการออกพันธบัตรเพื่อชำระหนี้ของรัฐบาลแต่ละปีมาใช้ระดมทุนในรูปแบบพันธบัตรที่เป็นโทเคน ที่สมารารถช่วยให้เกิดการระดมทุนผ่านตลาดรองได้มากขึ้นด้วย
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การออกไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน จะสามารถออกได้ภายใน 2 เดือนนี้ ส่วนช่องทางการซื้อนั้น จะมีความคล้ายกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา ผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายเช่นเดียวกับการซื้อพันธบัตร และน่าจะมีต้นทุนต่ำกว่าออกออกพันธบัตรแน่นอน
ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง วางแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลสมบูรณ์แบบ โดยกระทรวงการคลังมีแผนงานที่จะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และการให้บริการประชาชน โดยการใช้ข้อมูลมาเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กร (data-driven organization) จะเป็นแนวทางสำคัญที่นำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ในการออกแบบเชิงนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของแต่ละกลุ่มเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะมีการสร้างบุคลากรของกระทบวงคลังให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งภารกิจสำคัญของกระทรวงการคลังในการบริหารการคลังของประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี