‘ดร.กอบศักดิ์’เฉลยทำไม‘ทรัมป์’ต้อง10% อิทธิฤทธิ์‘กำแพงภาษี’รายได้สหรัฐพุ่ง 87.4%
15 พฤษภาคม 2568 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” หัวข้อ “รายได้ศุลกากรสหรัฐเพิ่ม +87.4% !!!” มีเนื้อหาว่า...
รายได้ศุลกากรสหรัฐเพิ่ม +87.4% !!!
หนึ่งในเป้าหมายของ President Trump ในการเข้าสู่สงครามการค้า คือ การหารายได้เพิ่มเข้ารัฐ
หลายคนถามว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นจริงไหม จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จะเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่
ล่าสุด WSJ รายงานจากข้อมูลกกระทรวงการคลังสหรัฐว่าสหรัฐเก็บภาษีอากรนำเข้าจากสินค้าต่างๆ เพิ่มเป็น 16.3 พันล้านดอลลาร์ ในเดือน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากเดิมเก็บได้ 8.7 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม หรือเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง +87.4%
จากภาษี 25% ที่คิดกับเม็กซิโกและแคนาดา ภาษีเฉพาะ 25% สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอลูมินัม ตลอดจน Reciprocal Tariffs ประมาณ 10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่เริ่มต้นคิดบ้างแล้ว ซึ่งเมื่อเริ่มเก็บกันอย่างจริงจัง รายได้จาก Tariffs จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้
สำหรับในระยะยาว เริ่มมีผลการศึกษาที่น่าสนใจออกมาเช่นกัน โดยการศึกษาของ Wharton มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเมินคร่าวๆ ว่า รายได้สหรัฐจาก Tariffs จะเพิ่มขึ้น เฉลี่ยประมาณ 4 - 5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี รวมเป็นเงินประมาณ 4.5 - 5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เทียบกับการขาดดุลการคลังสหรัฐ 1.05 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว ก็จะช่วยปิด Gap เรื่องนี้ไปได้ประมาณ 50%
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับหนี้ภาครัฐของรัฐบาลสหรัฐที่มีอยู่ประมาณ 31 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่ายังไม่มากพอจะช่วยชะลอไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนอดีต และช่วยให้มีช่องให้ท่าประธานาธิบดีไปลดภาษี No Tax on Tips, No Tax on Overtimes, No Tax on Social Securities ตามที่สัญญาไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกำลังจะออกมาประกาศใช้เร็วๆ นี้ รวมทั้ง ช่วยสร้างแรงจูงใจให้หลายบริษัทมาลงทุนผลิตในสหรัฐ ที่ล่าสุดมีตัวเลขแสดงความจำนงค์ประมาณ 5-6 ล้านล้านดอลลาร์
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม President Trump ถึงไม่ยอมยกเลิกเรื่อง Tariffs ไปเลย และไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ถึงมีตัวเลข 10% ออกมาตลอดเวลา
10% สำหรับทุกประเทศ ภายใต้ Reciprocal Tariffs แม้จะเป็นประเทศที่สหรัฐเกินดุลการค้าด้วย หรือเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางการค้าเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์
10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่ได้ชะลอออกไป 90 วัน ภายใต้ Reciprocal Tariffs
10% สำหรับสินค้านำเข้าจากอังกฤษ ทั้งๆ ที่เจรจากันแล้ว และอังกฤษก็ยอมไปหลายอย่างแล้ว
10% สำหรับสินค้าจีน ในช่วง PAUSE 90 วัน
โดยดีลต่อๆ ไปก็จะทำให้ภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า ท่านประธานาธิบดีคงขีดเส้นไว้สำหรับทีมเจรจาสหรัฐ สั่งให้ยอมได้หลายๆ อย่าง แต่ว่าต่ำสุดต้องคิด Tariffs ที่ 10% ให้ได้ !!!
มารอดูกันครับว่า ท้ายที่สุดแล้ว ในกลุ่มประเทศที่ถูกคิดเกิน 10% อัตราจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร และกรณีจีน หลัง 90 วัน จะไปจบที่อัตราอะไร
เพราะล่าสุด สินค้าชิ้นเล็กๆ จากจีน ที่ราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์ (ซึ่งใช้พื้นที่ถึง 90% ของเรือขนส่งสินค้าจากจีนที่เข้ามาที่ท่าเรือสหรัฐ) ไม่ได้รับการยกเว้นภายใต้สิ่งที่ตกลงกันที่เจนีวาให้เหลือ 10% แต่ต้องจ่ายภาษี 10+10+34 = 54% !!!
ทั้งหมด จะเป็นโครงสร้างภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐที่กำลังค่อยๆ เฉลยออกมา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอนาคตการส่งออกไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี ว่าจะไปได้ไหม และเป็นตัวกำหนดว่า China Flooding จะเข้ามาที่เราแค่ไหน หมายความว่า เราคงต้องมีทีมเร่งหาตลาดใหม่ๆ ในช่วงที่เหลือ เตรียมไว้เป็นทางออกที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา เผื่อเอาไว้ด้วยครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี