สหรัฐฯ เปลี่ยนเกมเศรษฐกิจ ไทยต้องรู้ทัน ไม่ใช่แค่เรื่องค้าขาย
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2568 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ด้านการจัดการนโยบายสาธารณะ ได้เผยแพร่บทความผลการศึกษา สหรัฐฯ เปลี่ยนเกมเศรษฐกิจ ไทยต้องรู้ทัน ไม่ใช่แค่เรื่องค้าขาย โดยเนื้อหาระบุว่า ในโลกที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง เพราะนโยบายของประเทศมหาอำนาจกำลังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทั้งภูมิภาคและโลกทั้งใบ หนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัด คือ การที่สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใช้นโยบายภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราที่สูงขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องเศรษฐกิจภายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากแต่เป็นการ “เปลี่ยนเกม” ที่มีผลกระทบไกลกว่าที่เห็น อาวุธทางภาษีจึงไม่ใช่เพียงเรื่องเทคนิคด้านเศรษฐกิจ แต่กำลังกลายเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ที่พลิกสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเก็บ ภาษีศุลกากรจากสินค้านำเข้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% นั้น จะกระทบต่อเม็ดเงินของไทยประมาณ 8 – 9 แสนล้านบาท ส่งผลกระทบ โดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมและเป็นลูกโซ่ถึงชีวิตคนไทยแทบทุกครอบครัว แม้ไม่ได้เกิดทันทีแต่ต้องไม่ประมาท ดังปรากฏในตารางนี้
ฃ
สรุปสั้น ๆ คือ นโยบายภาษีของสหรัฐฯ จะกระทบ ตั้งแต่ผู้ประกอบการ–โรงงาน–แรงงาน–ครอบครัว–นักเรียนนักศึกษา–ผู้สูงอายุ เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่อง “ค้าขาย” แต่คือเรื่องของชีวิตประจำวันของคนไทยทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม คนไทยไม่ควรตื่นตระหนก แต่ควรตระหนักผลกระทบเหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย แต่เชื่อว่ารัฐบาลมีมาตรการรองรับที่เหมาะสมเตรียมไว้แล้ว
ที่น่าพิจารณาคือ คนไทยและนักลงทุนควรทบทวนและทำความเข้าใจ “เกมใหม่” ที่สหรัฐฯ กำลังวางกระดาน จะพบว่า ประเทศไทยเองก็มี “ทางเลือก” และ “โอกาส” ที่จะลุกขึ้นมากำหนดอนาคตของตนเองและมีศักดิ์ศรี
สหรัฐฯ กำลังขยับจากบทบาท “ผู้นำโลกแบบอุดมการณ์ ต้นแบบประชาธิปไตย” ไปสู่ “รัฐซูเปอร์อำนาจแบบคัดสรรพันธมิตร” (Selective Superpower) และสหรัฐฯ เองก็เปิดรับข้อเสนอ ซึ่งมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ
(1) ใช้ “เศรษฐกิจเป็นแนวหน้า”
ในอดีต สหรัฐฯ มักใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือหลักในการรักษาผลประโยชน์ระหว่างประเทศ แต่ในยุคหลัง COVID-19 และท่ามกลางสงครามยูเครน–รัสเซีย เศรษฐกิจกลับกลายเป็นหัวหอกหลักของการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการคว่ำบาตร การจำกัดการส่งออกเทคโนโลยี หรือการเก็บภาษีสินค้านำเข้า เช่น กรณีภาษีนำเข้า 36% จากไทยในบางรายการ ตัวอย่างเช่น การตั้งกองทุน CHIPS Act มูลค่ากว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อดึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กลับเข้าอเมริกา และลดการพึ่งพาจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(2) คัดเลือกพันธมิตรที่ “ให้ประโยชน์สูงสุด”
ในยุคก่อน สหรัฐฯ อาจรักษาสัมพันธภาพเชิงยุทธศาสตร์กับพันธมิตรในทุกภูมิภาคอย่างเท่าเทียม แต่ในยุคใหม่นี้ พันธมิตรที่ “ให้ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสูงสุด” จะได้รับความสำคัญก่อน ตัวอย่างเช่น การหันไปจับมือแน่นกับอินเดียในกรอบ Indo-Pacific Strategy และการตั้งกลุ่ม QUAD กับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ขณะที่พันธมิตรเดิมในอาเซียนอย่างไทยและฟิลิปปินส์อาจถูกทดสอบ“ความพร้อม”และ“ความแน่นแฟ้น” ใหม่
(3) เสริม Soft Power ผ่านเทคโนโลยีและวัฒนธรรม
แม้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ในบางประเทศจะลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ความเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และวัฒนธรรมยังคงทรงพลัง เช่น บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Google, Apple, Microsoft, และ OpenAI ยังคงเป็นผู้นำโลก ตัวอย่างเช่น ChatGPT ที่พัฒนาโดยบริษัทสหรัฐฯ กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ทั่วโลก รวมถึงในภาครัฐและภาคการศึกษาในไทย แสดงให้เห็นถึงความสามารถของสหรัฐฯ ในการสร้างอิทธิพลผ่านความรู้และปัญญามากกว่าผ่านอาวุธ
ประเทศไทยต้องวางตนให้ “พอดี” และ “พอดูดี”
ในบริบทนี้ ประเทศไทยต้องรู้เท่าทันการปรับเทียบพลัง (recalibration) ของสหรัฐฯ และปรับบทบาทของตนให้ไม่ใช่เพียง “ผู้ตาม” ที่รองรับผลกระทบ แต่เป็น “ผู้เล่นที่ไว้ใจได้” ที่สามารถต่อรอง สร้างผลประโยชน์ร่วม และรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ไทยไม่จำเป็นต้อง “เลือกข้าง” ระหว่างมหาอำนาจ แต่ต้อง “เลือกผลประโยชน์ของชาติ” เป็นที่ตั้ง
ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนแรงกดดันให้เป็นแรงผลักดันเป็นพลังได้ หากว่าประเทศไทยพิจารณาต่อไปนี้
1.ต่อรองด้วยหลักการและผลประโยชน์ร่วม ไม่ใช่แค่ยอมตาม
ตัวอย่างเช่น ถ้าไทยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาแลกกับสินค้าจากไทยเข้าถึงตลาดสหรัฐอเมริกา หากสหรัฐอเมริกายอมลดภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยแม้เพียงบางกลุ่ม เหลือ 10 – 15% ภายในโควตาการส่งออกปีละประมาณสามหมื่นหกพันห้าร้อยล้านบาท ประเภท อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป ผลที่ตามมาคือช่วยรักษาการจ้างงานและพยุง GDP ของประเทศไทยเอาไว้ได้
2.เปิดช่องทางการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในเทคโนโลยีชั้นสูงร่วมกับไทย เป็นข้อแลกเปลี่ยนระยะกลางและระยะยาวที่มีมูลค่ามากกว่าการลดภาษี ตัวอย่างเช่น ไทยสามารถตั้งเงื่อนไขว่า หากยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สหรัฐฯ ควรสนับสนุนการตั้งโรงงานฐานผลิตเทคโนโลยีในประเทศไทย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร 6G และเทคโนโลยีชีวภาพ เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นต้น ทำให้สหรัฐฯ มองไทยไม่ใช่คู่ค้าเฉพาะกิจ แต่เป็น “พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี” ในภูมิภาค
3.มาตรการคุ้มครองผู้ผลิตคนไทย เป็นมาตรการดูแลภาคธุรกิจไทยให้มีศักยภาพแข่งขันได้ไม่ถูกสินค้าสหรัฐฯ กลืน เช่น เงินอุดหนุนช่วย SME ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มทุนพัฒนา SME สู่มาตรฐานสากล ทำให้โรงงานท้องถิ่นสามารถจับคู่กับผู้ซื้อในสหรัฐฯ ได้ และเร่งการใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร แปรรูป และโลจิสติกส์ คือ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสและพัฒนาสินค้าไทย
4.ใช้เวทีอาเซียนและกลุ่ม RCEP BIMSTEC สร้างอำนาจต่อรองในฐานะกลุ่ม มากกว่า ตัวใครตัวมัน
5.กระจายความเสี่ยงทางการค้า ไม่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลักเดียว เพิ่มส่งออกไป จีน อินเดีย อาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ใช้ FTA ที่มีอยู่แล้วและข้อตกลงตอบรับบริบทโลกใหม่ เช่น กับจีน อาเซียน ญี่ปุ่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไทยจะชนะได้ด้วยการพึ่งตนเองและมีหลายพันธมิตร
6.ยกระดับคุณภาพสินค้าส่งออกจากไทย ยกระดับมาตรฐานสินค้า เช่น อาหาร เกษตร อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาแบรนด์เนมของไทยให้ติดตลาดโลก และลงทุนในเชิงเศรษฐกิจชีวภาพที่ประเทศไทยมีของดีด้านความหลากหลายชีวภาพอยู่มากในหลายภูมิภาคของประเทศ ซึ่งคนไทยหลายคนยังไม่ทราบเรื่องนี้
7.ดึงดูดการย้ายฐานการผลิต จากประเทศที่เผชิญความไม่แน่นอน เช่น จีน หรือบางประเทศในยุโรป
8.พัฒนา Green Economy – Digital Economy – Smart Logistics เพื่อเป็นจุดแข็งของไทย
9.สื่อสารความชัดเจนว่า ไทยยืนอยู่บนหลักของ “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ + เสถียรภาพระยะยาว”
ด้วยการเจรจาต่อรองของประเทศไทยนี้จะหนุนเสริมความสามารถในการปรับสมดุลความสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นจากทุกฝ่ายและใช้จุดแข็งของไทย เช่น ภูมิศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ วัฒนธรรม และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเป็นแต้มต่อเพราะในเกมใหญ่นี้ ผู้เล่นที่ “รู้เกม” และ “รู้จังหวะ” เท่านั้น... ที่จะอยู่รอดอย่างสง่างาม
ดังนั้น ไทย...ต้องเป็น “ผู้นำในทางที่เลือก” ไม่ใช่ “ผู้ตกเป็นทางเลือก” การรู้เท่าทันจึงไม่ได้แปลว่า “ต่อต้าน” แต่คือการ วางตนให้เป็นอิสระ มีเกียรติ และมีแผน เราสามารถร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างมีเกียรติ เสริมจุดแข็งกันได้โดยไม่เสียอัตลักษณ์ พร้อมเดินหน้ากับนานาชาติอย่างมั่นใจเพราะโลกในวันนี้ ไม่ได้เลือกข้างซ้ายหรือขวา... แต่เลือก “ประเทศที่รู้ทัน รู้คิด และรู้ตน” คือ ประเทศไทยต้องเป็นหนึ่งในนั้น และเพราะการรู้เท่าทันนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้เราต่อต้านรัฐซูเปอร์อำนาจ แต่ทำให้เรา “เป็นอิสระจากอิทธิพล” และสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี