นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นภายใต้ “โครงการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการสร้างเสถียรภาพและความเข้มแข็งทางการค้าสินค้าพืชไร่: มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นนทบุรี
อย่างไรก็ตามปัจจุบันการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรของไทยต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายที่หลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้น ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากทั้งราคาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนของตลาดโลกทำให้ราคาสินค้าเกษตรผันผวน นอกจากนี้ภาคเกษตรยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพืช เช่น โรคใบด่างในมันสำปะหลัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตอย่างรุนแรง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ส่งผลให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานภาครัฐ ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องสามารถแข่งขันได้ พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในเวทีการค้าโลก
ทั้งนี้ มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชไร่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย ทั้งในด้านการสร้างรายได้แก่เกษตรกรและการเป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก ในปี 2567 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 6.4 ล้านตัน เป็นมูลค่า 3,133.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (110,276 ล้านบาท) สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแล้ว 2.3 ล้านตัน เป็นมูลค่า 810.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (27,384 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ ในปี 2567 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2.0 ล้านตัน มูลค่า 534.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (19,427 ล้านบาท) สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว 665,527 ตัน มูลค่า 192.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,554 ล้านบาท) มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2567 ซึ่งความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงสูงจากภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์
นอกจากนี้ สนค. จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินโครงการศึกษาฯ ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมทั้งวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของอุตสาหกรรม เพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเพิ่มโอกาสและช่องทางการตลาด ตลอดจนยกระดับศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้ามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
อย่างไรก็ตามซึ่งที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ 8 จังหวัดสำคัญ ที่มีการผลิตและมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ชลบุรี ระยอง กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และลำพูน เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกจากเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ เพื่อสะท้อนสภาพจริง ของการผลิตและการตลาดอย่างรอบด้าน และการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ยังรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งจะถูกรวบรวมเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำนโยบายในขั้นตอนต่อไป
นายพูนพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเร่งแก้ไขปัญหาของภาคการเกษตรไทย โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้า และพัฒนาระบบตลาดที่เป็นธรรม ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากทำได้สำเร็จ จะเป็นโอกาสในการผลักดันสินค้าพืชไร่ของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี