Krungthai COMPASS ธ.กรุงไทย ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7.2% โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% และ 8% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 18.1% (YoY) และ 11.9% (YoY) ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 24% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรพลิกกลับมาขยายตัว 7.0 % (YoY) จากการที่จีนเร่งนำเข้าก่อนที่สหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน เช่น ยางพารา
ทั้งนี้คาดการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2568 มีแนวโน้มหดตัว โดยมี 3 ปัจจัยกดดันที่ต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ 1.มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง รวมถึงสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน อาจได้รับผล กระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสูง นอกจากนี้ ยังต้องติดตามหากไทยเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง และผลไม้ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่มีข้อจำกัดในการแข่งขัน และมี Margin ต่ำ
ปัจจัยที่ 2.ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยยังต้องติดตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวันในเดือน พ.ค. 2568 ซึ่งอาจกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นต้น และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้ากระทบต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป (EU Deforestation-free products: EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้จริงตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2568 สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และ 30 มิ.ย. 2569 สำหรับบริษัท SMEs ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนจากการดำเนินการตาม EUDR ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยางพารา และปาล์มน้ำมัน
ส่วนปัจจัยที่ 3. การแข่งขันในตลาดส่งออกทวีความรุนแรง เนื่องจากอุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรในหลายประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารของหลายประเทศบรรเทาลง ตัวอย่างเช่น การที่อินเดียประกาศยกเลิกนโยบายจำกัดการส่งออกข้าว หลัง จากประเมินว่าผลผลิตภายในประเทศมีเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ จากสภาพอากาศที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่มีนโยบายชะลอการนำเข้าข้าว เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารที่บรรเทาลง จากผลผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกลดลง ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นปัจจัยที่กดดันราคาข้าวตลาดโลกในอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี