นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ขยายตัวได้ 3.1% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.3 % ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2568ขยายตัว0.7 % จากไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยเศรษฐกิจในไตรมาสนี้มาจากด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง
ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.6% ชะลอลงจากการขยายตัว 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวในทุกหมวดสินค้า โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 1.9% ชะลอลงจาก2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ การใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัว 4.5 %ชะลอลงจาก 6.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มบริการด้านสุขภาพ และการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 0.9% ชะลอลงจาก 3.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า และการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง 1.4% ต่อเนื่องจากการลดลง 9.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายเพื่อชื่อยานพาหนะลดลง 2.0% เทียบกับการลดลง 21.2% ในไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับดัชนีความเชื่อมันของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ โดยรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 51.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.5 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น3.4% ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้น 5.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัว 9.8% รายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดขยายตัว 6.0% และค่าตอบแทนแรงงานขยายตัว 0.9% โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 23.6 % (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 36.7 % ในไตรมาสก่อนหน้าแต่สูงกว่า 18.9 % ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
ทั้งนี้การลงทุนรวม ขยายตัว 4.7% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 5.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 26.3% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 39.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการลงทุนรัฐบาล ในขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลง สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่12.8% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 13.4% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่า 5.1% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ลดลง 0.9% ต่อเนื่องจากการลดลง 2.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือลดลง0.3% เทียบกับการลดลง 1.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลง 3.8% ต่อเนื่องจากการลดลง 3.9% ในไตรมาสก่อนหน้า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 2.6%การอุปโภคภาครัฐขยายตัว 3.4% การก่อสร้างขยายตัว 16.2%
นายดนุชา กล่าวอีกว่าส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 1.3 - 2.3 % (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 1.8 % ) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของของการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปียังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคจะขยายตัว 2.4 % และการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.7 % ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัว 1.8 % อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.0 - 1.0 % และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5 % ของ GDP
สำหรับความเสี่ยของเศรษฐกิจในปีนี้ยังมาจากเศรษฐกิจภายนอกโดยเฉพาะปริมาณการค้าโลก ที่จะลดลงจากความไม่แน่นอนเรื่องของการเจรจาการค้าหลังสหรัฐฯขึ้นภาษี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ในประเทศมีความเสี่ยงจากเรื่องของหนี้ครัวเรือน คุณภาพสินเชื่อต้องจับตาและต้องมีการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้มีการเพิ่ม NPL ภาคเกษตรยังคงเจอกับความไม่แน่นอนเรื่องของสภาพอากาศที่อาจจะมีปัญหาในแง่ของรายได้ภาคเกษตรมากขึ้น
ทั้งนี้ สศช.ได้แนะนำการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐ 6 ข้อได้แก่ 1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น เพื่อรักษาการเบิกจ่ายของภาครัฐให้ช่วยเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และสร้างเสถียรภาพ 2.การดำเนินการเพื่อรองรับการยกระดับมาตรการการกีดกันทางการค้าของประเทศ โดยเร่งการเจรจากับสหรัฐฯ ตามที่รัฐบาลได้เตรียมการไว้ในหลายด้าน รวมทั้งเร่งรัดการส่งออกสินค้าและขยายตลาดใหม่ๆ และส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 3.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม ใช้กฎหมายในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด ตรวจเฝ้าระวังเรื่องของการทุ่มตลาด 4.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ช่วยเหลือสภาพคล่องเพื่อไม่ให้มีการปลดคนงานออกจากการทำงาน 5.การดูแลภาคเกษตร และรายได้เกษตรกร โดยเตรียมรองรับผลผลิตสินค้าเกษตร และลงทุนแหล่งน้ำขนาดเล็ก 6.การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี