นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค(APEC Ministers Responsible for Trade Meeting : MRT) ประจำปี 2568 ณ จังหวัดเชจู สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2568 ว่า ได้แสดงวิสัยทัศน์และแนวทางของไทย ในการรับมือความท้าทายทางการค้าโลก พร้อมใช้โอกาสนี้หารือภาครัฐและเอกชนของเอเปค เพื่อสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจการค้า ท่ามกลางบรรยากาศที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางการค้า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความผันผวนทางเศรษฐกิจ เพราะเวทีนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่เขตเศรษฐกิจเอเปคจะได้มานั่งร่วมโต๊ะ แลกเปลี่ยนมุมมอง และหารือแนวทางขับเคลื่อนการค้าโลกอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
สำหรับการประชุมปี 2568 นี้เน้นหารือ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การใช้นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า 2.การส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ และ3.การขับเคลื่อนความมั่งคั่งผ่านการค้าที่มีความยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิก และกำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการค้าโลกอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองถ้อยแถลงร่วม(Joint Statement) ภายใต้หัวข้อหลัก“Building a Sustainable Tomorrow” หรือ “เสริมสร้างวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการเผชิญและแก้ไขปัญหาการค้าในยุคใหม่
ทั้งนี้ผลการประชุมจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของไทยและเขตเศรษฐกิจเอเปก ตลอดจนสนับสนุนการสร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถขยายตลาดในระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานความร่วมมือที่รับมือกับความท้าทายทางการค้าในระยะยาว โดยตนและรัฐมนตรีการค้าเอเปคได้ร่วมรับรองแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปค เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในประเด็นสำคัญของการค้าโลกยุคใหม่
อย่างไรก็ตามในระหว่างการประชุม ตนได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์(AI) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการค้า โดยเน้นย้ำความร่วมมือในกรอบเอเปค ด้านการเชื่อมโยงดิจิทัล มาตรฐานข้อมูล และการวิจัย AI ควบคู่ไปกับการลดช่องว่างทางดิจิทัล การคุ้มครองข้อมูล และการเตรียมแรงงานให้พร้อมรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังได้ย้ำความสำคัญของการปฏิรูปองค์การการค้าโลก(WTO) เพื่อให้ระบบการค้าพหุภาคียังตอบโจทย์ต่อความท้าทายโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยเสนอให้เอเปคเป็นเวทีหารือเชิงสร้างสรรค์ เพื่อปูทางให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 14 ในปี 2569 มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม รวมทั้งได้หารือกับสมาชิกอาเซียน เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าในปัจจุบัน และยังได้หารือทวิภาคีกับญี่ปุ่น ผู้แทนจากบริษัท Google เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทย และได้พบปะพูดคุยเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับรัฐมนตรีการค้าจากหลากหลายเขตเศรษฐกิจด้วย อาทิ สหรัฐฯ สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์
“การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง แต่เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันออกแบบอนาคตทางการค้า สร้างสมดุลและความเข้าใจร่วมกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก จึงเป็นการเปิดประตูสู่แนวทางใหม่ของการค้าระหว่างประเทศที่ยั่งยืน”นายพิชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี