ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ระบุว่า การเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนของ BRICS (BRICS Partner Country) ของไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นมา นับเป็นโอกาสสำคัญในการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยทั้งด้านการเข้าถึงตลาดใหม่ การระดมทุนเพื่อพัฒนาการเกษตร และมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการขยายการลงทุน
โดยตลาดเป้าหมายที่ควรเร่งบุก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซียและแอฟริกาใต้ เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารสูง อีกทั้งตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตสูง โดยเฉพาะข้าว ไก่ และอาหารสัตว์เลี้ยง ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
Krungthai COMPASS มองว่า ตลาด BRICS อาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้บางส่วน โดยปัจจัยความสำเร็จของผู้ประกอบการไทย คือ การเข้าใจตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลาย รวมถึงคุณภาพและมาตรฐานสินค้า อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการของไทยยังต้องเผชิญความท้าทายจากต้นทุนขนส่งที่สูง และเงื่อนไขที่ซับซ้อนของการเจรจาทางการค้า (Incoterm)
BRICS เป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 5 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และกำลังเติบโตในระดับโลก ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยในปี 2549 บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกของ BRIC จากนั้นในปี 2553 แอฟริกาใต้ ได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิก ทำให้กลุ่มเปลี่ยนชื่อจาก BRIC เป็น BRICS
กลุ่มสมาชิก BRICS (BRICS Members) มีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย อียิปต์ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินโดนีเซีย และมีประเทศหุ้นส่วนของ BRICS (BRICS Partners) อีก 9 ประเทศได้แก่ เบลารุส โบลิเวีย คาซัคสถาน คิวบา มาเลเซีย ไทย ยูกันดา อุซเบกิสถาน และไนจีเรีย โดยแม้ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS จะไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจของกลุ่ม แต่ยังสามารถสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเมืองกับ BRICS ได้อย่างเต็มที่
กลุ่ม BRICS มีบทบาทสำคัญต่อโลกและประเทศสมาชิกที่หลากหลาย อาทิ บทบาทด้านเศรษฐกิจ เนื่องจาก มีสัดส่วนของ GDP ของกลุ่มประเทศของ BRICS รวมกันสูงถึง 43% ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันราวครึ่งหนึ่งของโลก อีกทั้งบทบาทด้านการเมือง ซึ่งเป็นเวทีของประเทศกำลังพัฒนาในการแสดงจุดยืนและต่อรองกับชาติตะวันตก และเพิ่มบทบาทในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศ และมีบทบาทในการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านเทคโนโลยี AI เทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานสะอาด นอกจากนี้ กลุ่ม BRICS ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าเกษตรและอาหารของโลก เช่น ธัญพืช โดยบราซิล รัสเซีย อินเดียเป็นผู้ผลิตที่มีสัดส่วนราว 42% ของธัญพืชโลก รวมถึงเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สำคัญของสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่มีศักยภาพ จะสามารถเกาะเกี่ยวผลประโยชน์จากตลาด BRICS นี้ไปได้
การเข้าร่วม BRICS จะเป็นโอกาสสำคัญในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในตลาดดังกล่าว ซึ่งอาจทดแทนสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษี ตอบโต้ของสหรัฐฯ ได้บางส่วน เนื่องจากไทยส่งออกข้าวหอมมะลิและอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ซึ่งมีสัดส่วนราว 44% และ 32% ของการส่งออกข้าวหอมมะลิและอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทั้งหมด ตามลำดับ ดังนั้นหากไทยขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศ BRICS อย่างตลาด UAE รัสเซียและแอฟริกาใต้ ที่มีการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารสูง และตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตสูง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและอาหารสัตว์เลี้ยง จึงอาจช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้บ้าง
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในการเข้าสู่ตลาด BRICS จะต้องเข้าใจตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าผู้บริโภคชาวรัสเซียกว่า 70% นิยมอาหารแบบพร้อมรับประทานและอาหารแช่แข็ง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์แปรรูป มากกว่าอาหารที่ต้องเตรียมและปรุงเอง อีกทั้งชาวรัสเซียนิยมซื้อสินค้าอาหารที่เก็บไว้ได้นานและมีปริมาณมาก (Long lasting products in bulk) เช่นเดียวกับผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ ที่นิยมบริโภคเนื้อวัวเป็นหลัก รองลงมาคือ เนื้อไก่ เนื้อนกกระจอกเทศ และเนื้อไก่งวง ขณะที่การบริโภคข้าวหอมมะลิในรัสเซียจะจัดอยู่ในหมวดข้าวนำเข้าและมักใช้ในอาหารนานาชาติ โดยเฉพาะอาหารเอเชีย เช่น อาหารไทย จีน หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีความนิยมมากขึ้นในเมืองใหญ่ เช่น มอสโก และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
คุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเป็นสิ่งจำเป็น แต่ละประเทศใน BRICS มีกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารที่เข้มงวด เช่น ตลาดกลุ่มประเทศอาหรับที่ต้องได้รับมาตรฐานฮาลาลของ Gulf Cooperation Council (GCC) และองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และสินค้าอาหารทะเลกระป๋องที่วางจำหน่ายในแอฟริกาใต้ต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมแอฟริกาใต้ (South African Bureau of Standard: SABS) นอกจากนี้ ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า หรือ Certificate of Origin เป็นเอกสารที่ใช้ยืนยันว่า สินค้าที่จะส่งออกมีแหล่งกำเนิดจากประเทศใด ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศและช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยในตลาด BRICS
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นโอกาสสำคัญในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในตลาด BRICS แต่ผู้ประกอบการของไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ต้องปรับตัว อาทิ ต้นทุนโลจิสติกส์และค่าขนส่งสูง เนื่องจากการขนส่งสินค้าไปยัง BRICS มีระยะทางไกล โดยเฉพาะรัสเซีย เช่น ท่าเรือ Novorossiysk ที่มีระยะเวลาขนส่งทางเรือจากไทยถึง 30-40 วัน ยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือไป UAE และแอฟริกาใต้ ที่ใช้เวลา 9-15 และ 19-30 วัน ตามลำดับ รวมถึงระบบ Cold Chain Logistics สำหรับสินค้าแช่แข็งที่มีค่าขนส่งสูงกว่าการขนส่งสินค้าที่ไม่ต้องควบคุมอุณหภูมิ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยสามารถประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยยืดอายุสินค้า เพื่อลดต้นทุน Cold Chain Logistics ได้ อีกทั้งสร้างเครือข่ายในการรวมกลุ่มผู้ประกอบการไทยเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ผ่านการแชร์คลังสินค้าและขนส่ง รวมถึงอาจศึกษาและพิจารณาการขนส่งทางราง เช่น รถไฟจีน-ยุโรป
นอกจากนั้น เงื่อนไขที่ซับซ้อนของการเจรจาทางการค้า (Incoterm) ยังเป็นอีกประเด็นที่ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยต้องให้ความสำคัญในกระบวนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ BRICS เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและกฎระเบียบที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ Incoterms ที่เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการส่งออก โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนการขนส่ง ความรับผิดชอบในกรณีความเสียหายของสินค้า และขั้นตอนศุลกากร เช่น Free on Board (FOB) หรือ Cost, Insurance, and Freight (CIF) ที่มักถูกใช้ในประเทศ BRICS เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องความรับผิดชอบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การเจรจา Incoterms ที่รอบคอบและเหมาะสมไม่เพียงช่วยเพิ่มความโปร่งใส แต่ยังเสริมสร้างความไว้วางใจในความสัมพันธ์ทางการค้า ทำให้ผู้ส่งออกสามารถปรับตัวกับตลาด BRICS ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นใจมากขึ้น
กฤชนนท์ จินดาวงศ์
ปราโมทย์ วัฒนานุสาร
Krungthai Compass
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี