นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 100.79 ขยายตัว 1.88 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.14 %สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยขยายตัว 12.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตเพื่อส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้างานมอเตอร์โชว์
ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคุณสู้เราช่วยที่ขยายเวลาลงทะเบียน โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) การค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออกรวมเพิ่มขึ้น 18.4 %เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งส่งออกไปยังสหรัฐฯ ก่อนจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า โดยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) อยู่ที่ 23,552 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 22.3%
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศอาจจะชะลอตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมปรับตัวลดลง โดยมีปัจจัยหลักจากค่าเงินบาทแข็ง สินค้าทะลักจากต่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว จากปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลกระทบต่อยอดขายของสินค้าอุตสาหกรรมโดยรวม
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวมีการชะลอตัว เนื่องจากปัญหาต่อเนื่องจากเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของไทย รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวมีความคิดว่าการเที่ยวในไทยมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าการเที่ยวประเทศที่มีลักษณะคล้ายกัน
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมิถุนายน 2568 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง” โดยปัจจัยในประเทศชะลอตัวต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่หดตัวจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ด้านปัจจัยต่างประเทศ ภาพรวมยังคงต้องเฝ้าระวังภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าทั้งญี่ปุ่นและยูโรโซนที่ชะลอตัวลง และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา รวมถึงภาวะการค้าในตลาดโลก
“ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีความเปราะบางซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยต้องร่วมกันทั้งในภาพของมาตรการและการปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและสามารถแข่งขันได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนดังกล่าว” นายภาสกร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี