11 ก.ค. 2568 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบทความ “เข้าใจเรื่องอากรนำเข้า” เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เนื้อหาดังนี้
ถามว่า ทำไมทรัมป์ออกนโยบายเก็บภาษีอากรขาเข้า?
ตอบว่า มี 3 เหตุผล
1 คนอเมริกันกินใช้เกินตัว กินใช้เกินกว่าความสามารถในการผลิตส่งออก ทำให้ขาดดุลการค้ามหาศาลมานาน และจะบานออกไปเรื่อย ถ้าไม่แก้ไข ในอนาคตจะกระทบความเชื่อมั่นสหรัฐในฐานะผู้นำโลกของ
2 ทรัมป์ออกกฎหมาย Big Beautiful Bill ลดภาษีเงินได้และเพิ่มรายจ่าย รัฐบาลไม่ต้องการให้งบประมาณขาดดุลหนักขึ้น จึงจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม ซึ่งภาษีอากรนำเข้าเป็นวิธีง่ายสุด และสามารถยืนกรานว่าไม่กระทบคนอเมริกัน
3 การกินใช้เกินตัวทำให้สหรัฐเป็นผู้บริโภคหลักของโลก consumer of last resort ทรัมป์จึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือแสดงพลังข่มขู่ประเทศผู้ขายได้ทั่วโลก ใช้เป็นหมากการเมืองระหว่างประเทศ และทำให้คนอเมริกันเห็นถึงอำนาจต่อรองสูง
ถามว่า ถ้าไทยโดน 36% เวียดนาม 20% ผลจะเป็นอย่างไร?
ตอบว่า เมื่อยกระดับภาษีนำเข้าสูงขึ้น มูลค่าและปริมาณการนำเข้าในสหรัฐย่อมลดลง คนอเมริกันกินใช้น้อยลง ดังนั้น ออเดอร์สั่งซื้อเข้าสหรัฐจะลดลงทั้งไทยและเวียดนาม ปัญหามีอยู่ว่า จะลดลงที่ไหนมากกว่ากัน
สำหรับสินค้าผลิตในไทย ถ้าไม่มีการผลิตที่เวียดนาม ออเดอร์ไทยจะลดลงบางส่วน เช่น เหลือ 80% หรือ 60%
แต่สำหรับสินค้าผลิตในไทย ที่มีการผลิตเหมือนกันที่เวียดนาม ออเดอร์ไทยจะลดลงเหลือ -0- เพราะจะไม่มีใครซื้อสินค้าไทยที่ราคาเพิ่มจาก 100 ไปเป็น 136
เขาจะไปซื้อสินค้าเวียดนามในราคา 120 แทน
ผลที่จะเกิดขึ้นในไทยคือ
1 โรงงานที่ออเดอร์ลด จะลดคนงาน จีดีพีลด คนว่างงานเพิ่ม
2 โรงงานต่างชาติที่เดิมวางแผนจะลงทุนเพิ่ม จะขยายกำลังผลิต จะสะดุด จะคิดย้ายไปเวียดนาม
3 นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ จะหันไปเวียดนามแทนไทย และแม้แต่นักลงทุนไทยที่ต้องการส่งออกไปสหรัฐ ก็จะย้ายไปลงทุนที่เวียดนามแทน
เศรษฐกิจไทยจะชะลอฉับพลัน จีดีพีจะลด ว่างงานจะเพิ่ม การลงทุนอนาคตจะเพิ่มน้อยลง จีดีพีอนาคตจะโตน้อยลง ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ตั้งชื่อว่า จะเป็นเศรษฐกิจแบบ “อดมื้อ-กินมือ”
อย่างไรก็ดี สำหรับสินค้าประเภทเทคโนโลยีต่ำ และเทคโนโลยีปานกลาง นั้น ไม่สามารถมีการตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐได้ จึงจำเป็นต้องมีประเทศที่สาม เป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมระหว่างจีนกับสหรัฐ
เวียดนาม 20% จะทำหน้าที่นี้ได้ดี ถ้าไทยได้ 20% ด้วย ก็จะสามารถทำหน้าที่นี้ได้เช่นกัน แต่กรณีไทย 36% ก็จะหลุดออกจากการค้าโซ่ข้อกลางไปโดยสิ้นเชิง
ถามว่า ถ้าใช้โมเดลเวียดนาม คือภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐเป็น 0% ทุกตัว จะกระทบไทยอย่างไร?
ตอบว่า ในรูปแสดงอัตราปัจจุบันที่ไทยเก็บจากจีนเทียบกับสหรัฐ ข้อมูลจากเพจ CSI LA แต่ผมไม่สามารถตรวจทานความถูกต้อง
คำถามหลักคือ ผู้ผลิตในไทยจะสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในสหรัฐได้หรือไม่ ทั้งที่ค่าแรงและค่าโสหุ้ยในสหรัฐสูงปรี๊ด และต้องส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาขายแข่งในไทย
ในกรอบสีเขียวคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและชิ้นส่วน
ถ้ายังมีการผลิตสินค้าประเภทเหล่านี้ในสหรัฐส่งมาขายในไทยได้ ย่อมจะต้องเป็นสินค้าเทคโนโลยีสูงมากเหมาะสมกับค่าแรงสูงปรี๊ด
และในเมื่อผู้ผลิตในไทยยังสามารถรับมือได้กับสินค้าผลิตในจีนที่นำเข้า 0% หรือ 0-5% จึงเป็นไปไม่ได้ที่สินค้าผลิตในสหรัฐจะได้เปรียบสินค้าแบบนี้ที่ผลิตในไทย
นอกจากนี้ สินค้าเทคโนโลยีสูงมากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในไทย
ดังนั้น ภาษี 0% สำหรับประเภทนี้ ผมจึงเห็นว่าไม่เสียหาย
ในกรอบสีน้ำเงินคือ เสื้อผ้า/สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ของเล่น
ถ้ายังมีการผลิตสินค้าประเภทเหล่านี้ในสหรัฐส่งมาขายในไทยได้ ทั้งที่ค่าแรงสูงกว่ามาก ย่อมจะต้องเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เสื้อผ้าสุดพิสดาร เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้โอ็ค/ไม้แอช รถยนต์แบบอเมริกันที่คนไทยไม่ค่อยนิยม และของเล่นที่มีสิทธิบัตร
ผมนึกไม่ออกว่าสินค้าประเภทเหล่านี้ จะกระทบโรงงานในไทย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างไร คนไทยน่าจะนิยมของแพงผลิตในสหรัฐกลุ่มนี้น้อยมาก
ในกรอบสีแดงคือ อาหารแปรรูป
ไทยเก็บภาษีจีน 0-5% ซึ่งกระทบสินค้าเกษตรไทยบางชนิดโดยเฉพาะผัก ผลไม้ ดอกไม้ แต่ไม่กระทบ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง เนื้อหมู เพราะจีนผลิตไม่พอส่งออก
กรณีไทยยอมนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐ จะสามารถตั้งมาตรฐานจำกัดสารเร่งเนื้อแดงได้อยู่แล้ว ไม่ว่าโดยลำพังหรือเจรจาให้เป็นมาตรฐานอาเซียน
ต้นทุนในขั้นตอนการที่ชาวบ้านเลี้ยงหมูในไทยนั้น ต่ำกว่าฟาร์มมาตรฐานสูงในสหรัฐอยู่แล้ว
ปัญหาจึงน่าจะอยู่ที่องคาพยพในไทย ตั้งแต่ราคาอาหารสัตว์ยารักษาโรคไปจนถึงขบวนการชำแหละแปรรูป ราคาไทยแพงกว่าในสหรัฐหรือไม่
ถ้าแพงกว่า เกิดจากการผูกขาดในไทยหรือไม่
ดังนั้น ถ้าไทยจะให้ภาษี 0% รัฐบาลจะต้องประกาศไปพร้อมกับนโยบายรื้อโครงสร้างผูกขาดทั้งหมด เพื่อดูแลให้ไม่กระทบเกษตรกรรายย่อย
เช่นเดียวกันกับข้าวโพด ถั่วเหลือง ถ้าหากต้นทุนเกษตรกรไทยสูง เพราะองคาพยพแพง ไม่ว่าปุ๋ย เครื่องมือเก็บเกี่ยว
ถ้าไทยจะให้ภาษี 0% รัฐบาลจะต้องประกาศไปพร้อมกับนโยบายรื้อโครงสร้างผูกขาดทั้งหมดเช่นกัน
ทั้งนี้ กรณีมีการนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐนั้น เกษตรกรที่เดือดร้อน อาจจะไม่ใช่คนไทย
แต่จะเป็นในประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกส่งมาแข่งกับเกษตรกรไทยเป็นล่ำเป็นสันอยู่แล้ว และมีการเผาหลังเก็บเกี่ยวทุกปี สร้างปัญหา PM2.5 กระทบคนไทยอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงกระทบท่องเที่ยวและสาธารณสุข
และผู้ที่เดือดร้อนหนัก อาจจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดธัญพืชเหล่านี้
สำหรับเกษตรกรรายย่อย ที่ประสบปัญหาจากการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐอย่างแท้จริงนั้น รัฐบาลสามารถเก็บภาษีจากการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ เพื่อเอามาชดเชยให้แก่เกษตรกรรายย่อยโดยตรง ในลักษณะเป็น earmarked tax
กล่าวคือ ให้ภาคเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์จากโมเดลโซ่ข้อกลาง ต้องเป็นผู้ชดเชยแก่ภาคเกษตรกรรายย่อยที่ถูกผลกระทบ
ถามว่า ถ้ารัฐบาลเน้นถามจุดยืนของธุรกิจเอกชน ให้เป็นผู้ตัดสินใจ ในฝั่งการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ จะมีโอกาสเจรจาได้ 20% ไหม?
ตอบว่า ถ้าหากเอกชนที่เข้าไปร่วมให้ความเห็นแก่รัฐบาล มีแต่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาด เอกชนย่อมไม่เห็นด้วยที่จะลดภาษีสหรัฐเหลือ 0%
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีหน้าที่มองข้ามอุปสรรคเฉพาะหน้า มองไกลให้เห็นถึงแนวโน้มการค้าโลกในอนาคต และมองให้ทะลุถึงวิธีการที่จะลดภาษีสหรัฐเหลือ 0%
โดยต้องทำควบคู่ไปกับการปรับรื้อโครงสร้างการผูกขาดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่นำเข้า
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.facebook.com/photo?fbid=1313518010145459&set=a.334403454723591
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี