นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง พบว่า สินค้าสมุนไพรยังเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยข้อมูลจาก Euromonitor บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ในปี 2567 มูลค่าการค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก สูงถึง 60,589.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.6% จากปีก่อนหน้า และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจนแตะระดับ 78,395.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2572 โดยตลาดค้าปลีกรายใหญ่ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ (1) จีน มีมูลค่า 19,569.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (2) สหรัฐอเมริกา 9,809.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (3) ญี่ปุ่น 2,953.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (4) เกาหลีใต้ 2,679.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และ (5) เยอรมนี 2,159.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยตลาดค้าปลีกสมุนไพรมีมูลค่า 1,265.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.1% จากปีก่อนหน้า จัดอยู่อันดับที่ 10 ของโลก
สำหรับข้อมูลการค้าสินค้าสมุนไพรของโลก ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ พืชสมุนไพร (HS Code 1211) สารสกัดจากสมุนไพร (HS Code 1302) และน้ำมันหอมระเหย (HS Code 3301) ในปี 2567 มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้
(1) พืชสมุนไพร มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 4,562.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศผู้ส่งออกสำคัญ คือ จีน (สัดส่วน 21.5% ของมูลค่าการส่งออกของโลก) อินเดีย (11.9%) และแคนาดา (7.5%) และมีมูลค่าการนำเข้าทั่วโลกอยู่ที่ 4,500.0 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐฯ (สัดส่วน 12.3% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก) เยอรมนี (10.8%) และจีน (7.5%) ขณะที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้า 30.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (นำเข้าเป็นอันดับที่ 29 ของโลก สัดส่วน 0.7%) และมีมูลค่าการส่งออก 18.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกเป็นอันดับที่ 42 ของโลก สัดส่วน 0.4%) โดยไทยขาดดุลการค้าสินค้าพืชสมุนไพร 11.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
(2) สารสกัดจากสมุนไพร มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 8,345.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศผู้ส่งออกสำคัญ คือ จีน (สัดส่วน 26.2% ของมูลค่าการส่งออกของโลก) อินเดีย (12.0%) และสหรัฐฯ (7.5%) และมีมูลค่าการนำเข้าทั่วโลกอยู่ที่ 7,955.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐฯ (สัดส่วน 21.1% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก) เยอรมนี (7.6%) และจีน (4.4%) ขณะที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้า 140.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (นำเข้าเป็นอันดับที่ 17 ของโลก สัดส่วน 1.8%) และมีมูลค่าการส่งออก 11.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกเป็นอันดับที่ 39 ของโลก สัดส่วน 0.1%) โดยไทยขาดดุลการค้าสินค้าสารสกัดสมุนไพร 129.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
(3) น้ำมันหอมระเหย มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 6,381.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศผู้ส่งออกสำคัญ คือ อินเดีย (สัดส่วน 14.3% ของมูลค่าการส่งออกของโลก) สหรัฐฯ (11.8%) และบราซิล (9.1%) และมีมูลค่าการนำเข้าทั่วโลกอยู่ที่ 6,325.1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐฯ (สัดส่วน 20.4% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก) เยอรมนี (8.3%) และฝรั่งเศส (8.3%) ขณะที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้า 36.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (นำเข้าเป็นอันดับที่ 25 ของโลก สัดส่วน 0.6%) และมีมูลค่าการส่งออก 20.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกเป็นอันดับที่ 33 ของโลก สัดส่วน 0.3%) โดยไทยขาดดุลการค้าสินค้าน้ำมันหอมระเหย 16.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพด้านสมุนไพร แต่ไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิในทุกกลุ่มสินค้าสมุนไพรดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มสารสกัดที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าทุกกลุ่ม เนื่องจากต้องใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่กระบวนการผลิตมีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก สำหรับด้านการส่งออก จากมูลค่าการส่งออกของไทย ใน 3 กลุ่มสินค้าหลัก (พืชสมุนไพร สารสกัดจากสมุนไพร และน้ำมันหอมระเหย) พบว่า ไทยยังมีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกค่อนข้างต่ำ โดยมีสินค้าน้ำมันหอมระเหยเป็นกลุ่มที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยมีการนำสมุนไพรไทยไปใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์นวดแผนไทยและสปา และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ซึ่งไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ขั้นปลายเหล่านี้ที่มีส่วนผสมของสมุนไพร แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการจัดหมวดหมู่ในระบบพิกัดศุลกากรของสินค้าสมุนไพรที่ไม่แน่ชัด จึงไม่สามารถจัดเก็บมูลค่าการส่งออกของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยได้ทั้งหมด โดยหน่วยงานภาครัฐไทยตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ และกรมศุลกากรอยู่ระหว่างจัดทำพิกัดรหัสสถิติ เพื่อให้สามารถจัดเก็บมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนในการกำกับติดตาม เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยได้อย่างเหมาะสม
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สมุนไพรไทยไม่เพียงเป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติ แต่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ประเทศไทยมีจุดแข็งรอบด้าน ทั้งด้านสายพันธุ์พืชสมุนไพรที่หลากหลาย การใช้สมุนไพรในวิถีดั้งเดิมของชุมชน และการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ หากสามารถบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ด้วยแนวคิดร่วมสมัย จะเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และสอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ซึ่งล่าสุด กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศใช้ Key Message “Think Wellness Think Thai Herb คิดถึงสุขภาพ คิดถึงสมุนไพรไทย” ในการประชาสัมพันธ์สมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สะท้อนคุณค่าและความน่าเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ซึ่งจะสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งผลักดันแนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย” ซึ่งสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ ส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นให้มีมูลค่าสูง และกระตุ้นการบริโภคอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี