nn แน่นนอนว่าหนึ่งในปัญหาใหญ่สำหรับเศรษฐกิจไทยขณะนี้คือ กรณีที่สหรัฐอเมริกา จะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) สำหรับสินค้าไทยในระดับ 36% ซึ่งขณะนี้มีประเทศในชาติอาเซียนที่สามารถเจรจากับสหรัฐฯจนได้ข้อยุติไปแล้วคือ เวียดนาม ที่จะโดนเรียกเก็บ 20% จากเดิม 46% และอินโดนีเซีย ที่จะโดนเรียกเก็บ 19% จากเดิม 32% แม้ว่าไทยจะพอเวลาเหลือให้ลุ้นก่อนจะถึงเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 ว่าอาจจะได้ลดลงต่ำกว่า 36% แต่ก็ยังวางใจไม้ได้ว่าเราจะได้อัตราภาษีที่ต่ำกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย และดูจากเงื่อนไขที่เวียดนามและอินโดนีเซียเสนอไปให้สหรัฐฯแล้ว ก็ยากที่ไทยจะทำได้ดีกว่านั้น
นอกจากเงื่อนไขที่ไทยจะเสนอไปให้สหรัฐฯพิจารณานั้นยากที่จะเทียบหรือดีกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียได้แล้ว...ด้วยบริบทของเงื่อนไขที่สหรัฐฯอยากจะได้จากไทยนั้นก็แต่งต่างจาก 2 ทั้งประเทศที่เอ่ยมาได้ และก็เชื่อว่าบางเรื่องบางประเด็นก็ยากเหลือเกินที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่จะยอมรับได้ด้วย
ถึงตอนนี้ “ทีมไทยแลนด์” ที่มีคุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าทีม พยายามจะทำข้อเสนอใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าไป แต่สังคมไทยก็ไม่ได้รับรู้ว่าในข้อเสนอเหล่านั้นมีอะไรบ้าง...และหากสมมุติว่าไทยเจรจาได้ข้อยุติแล้ว และได้ลดอัตราภาษีต่ำลงมา เมื่อเปิดข้อเสนอที่ไทยเสนอไป ไม่รู้สังคมไทยจะช็อกแค่ไหน????
ดังนั้นดีที่สุดสำหรับตอนนี้ก็คือ หาแนวทางรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายสมมุติฐาน...ดีที่สุดคือ ได้อัตราภาษีที่ต่ำกว่าคู่แข่งการค้าของเรา...กลางๆ ก็คือ อัตราภาษีเท่ากันหรือสูงกว่าคู่แข่งทางการค้า 5% และที่แย่ที่สุดก็คือ อัตราภาษีอยู่ในอัตราเดิมคือ 36% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งทางการค้าสำคัญ โดยเฉพาะเวียดนาม เกือบ 1 เท่าตัว
พูดถึงแนวทางรับมือก็เพิ่งจะเห็นมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการการลงทุน(บีโอไอ) ที่ออกมา 5 มาตรการในเบื้องต้นเมื่อวันก่อน ซึ่งก็ต้องบอกว่า ส่วนใหญ่เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะบีโอไอก็ทำงานหลักเกี่ยวกับการลงทุน และส่วนใหญ่ก็เป็นการลงทุนในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอยู่แล้ว
ถึงกระนั้นเราก็ไม่ควรลืมผู้ที่ได้รับกระทบในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ ของประเทศ เป็นรากฐานหลักของประเทศ และเอาเข้าจริงการที่เราเกินดุลการค้าสหรัฐฯ 4.15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่ก็มาจากสินค้าที่ไม่ใช่ของคนไทยด้วย แม้จะผลิตในประเทศไทย แต่ก็เป็นแค่ “สินค้าสวมสิทธิ์”...เต็มที่เลยหากไทยเจรจาไม่สำเร็จ กลุ่มทุนต่างชาติเหล่านี้ก็โยกไปลงทุนที่อื่น...แต่เกษตรกรไทยอยู่รับกรรมเต็มๆ ที่ชัดๆ เลยก็สินค้าในกลุ่มยางพารา...ไทยจะเอาอะไรไปสู้ยางจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย...และข้าว...ไทยจะเอาอะไรไปสู้กับเวียดนาม...หรือสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งหลาย ใครจะมาซื้อเมื่อต้องบวกภาษีเข้าไปอีก 36%...ฯลฯ หรือในกรณีที่สหรัฐฯยอมลดภาษีให้ไทยบ้าง แต่ไม่ต่ำกว่าคู่แข่ง แต่เราต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้สหรัฐฯ...ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสุกร เนื้อโค พืชผัก ผลไม้อื่นๆ...เกษตรกรไทยกลุ่มเหล่านี้ก็ตายหมด...และเมื่อภาษีไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง กลุ่มทุนที่ว่านี้ก็ย้ายหนีไทยไปอยู่ดี
ดังนั้นแผนรับมือผลกระทบที่จะเกิดกับภาคการเกษตรของไทยต้องมีได้แล้ว และไม่ใช่แค่หาปั๊มน้ำมัน หรือลานกว้างหน้าแบงก์ หน้าหน่วยงานราชการ ให้เกษตรกรเอาสินค้าไปวางขาย หรือแม้กระทั่งโครงการประเภท “ลำไย มังคุด มะม่วง เงาะ ช่วยชาติ”...เพราะเรื่องแบบนั้นมันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
พงษ์พันธุุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี