**ก่อนจะถึงเส้นตายในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 เราก็ต้องมาลุ้นกันว่าผลจากการเจรจาระหว่าง “ทีมไทยแลนด์” ที่มี นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าทีมในการเจรจากับสหรัฐอเมริกา สุดท้ายแล้วไทยจะถูกสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในอัตราที่ 36% หรือ ต่ำกว่านั้นมากน้อยแค่ไหน
ความคืบหน้าล่าสุดจากฝั่งของไทยนั้น ก็ต้องยืนยันจากข้อความของ นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้โพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ โดยระบุว่าได้เจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ยังไม่จบ มีข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อหวังลดภาษี 36% ย้ำการปรับปรุงข้อเสนอจะตรงเป้าเป็นที่พอใจ และ Balance เป็นประโยชน์กับคนไทย โดยระบุว่าได้เจรจากับสหรัฐฯผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เมื่อคืนนี้ (วันที่ 17 กรกฎาคม 2568) เป็นการพูดคุยอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 2 กับทาง USTR โดยประเทศไทยได้ส่งข้อเสนอที่ได้รับการปรับปรุงไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และก็ได้มีการนำข้อเสนอเพิ่มเติมหลังจากที่หารือกันกับหลายภาคส่วน มานำเสนอเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยและทำ Stress Test ประเมินผลกระทบภาวะวิกฤตกับภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยหลายภาคส่วนเห็นว่าการเจรจาครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ยกเครื่องเศรษฐกิจ ปรับปรุงโครงสร้าง
ก่อนหน้านั้น นายพิชัย ชุณหวชิร ระบุว่า ข้อเรียกร้องสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯในการเจรจาครั้งนี้ คือ การขยาย Market Access หรือการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ เข้ามาขายสินค้าในไทยได้มากขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและประเภทสินค้า และการเจรจาครั้งนี้มีความซับซ้อนและแตกต่างจากการเจรจา FTA ทั่วไป เนื่องจากเป็นการเสนอในลักษณะ “US Preferential Treatment” หรือการขอสิทธิพิเศษฝ่ายเดียว ซึ่งไทยจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยทีมไทยได้พิจารณาอย่างรอบคอบภายใต้หลักการว่า จะเปิดเฉพาะสินค้าที่ “เขาอยากขาย” และ “เราอยากซื้อ” โดยเน้นรายการที่ไทยยังผลิตไม่ได้ หรือผลิตไม่เพียงพอ เช่น พลังงาน วัตถุดิบเกษตร หรือวัตถุดิบอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถกำหนดอัตราภาษีนำเข้าระดับต่ำหรือ 0% ได้อย่างเหมาะสม
นายพิชัย ย้ำว่า ไทยได้พยายามปรับข้อเสนอให้ครอบคลุมรายการสินค้านำเข้าที่เปิดตลาดได้ถึงประมาณ 90% แล้ว จากสินค้าทั้งหมดราว 10,000 รายการ โดยในจำนวนนี้มีหลายรายการที่ไทยมี FTA กับประเทศอื่นอยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบ หากจะเปิดให้สหรัฐฯเข้ามา นอกจากนี้สินค้าที่ราคาภายในประเทศไม่สูง เช่น ลำไย ปลานิล ที่ฝ่ายสหรัฐฯขอเปิดตลาด ก็จะส่งผลต่อราคาผลผลิต หรือรถยนต์พวงมาลัยซ้าย ซึ่งเชื่อว่าจะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศเช่นกัน ในประเด็น Local Content ที่สหรัฐฯให้ความสำคัญมากเช่นกัน นายพิชัย ยอมรับว่า เป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ไทยจะใช้โอกาสนี้เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่ม ลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร และ SME โดยภาครัฐได้เตรียมมาตรการเยียวยาไว้แล้ว เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0.01% วงเงิน 200,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการค้าครั้งนี้
ในขณะเดียวกันก็มีมุมมองของภาคเอกชนหลายภาคส่วนที่สะท้อนถึงกรณีดังกล่าว อย่างเช่นกรณีของ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ข้อเสนอรอบล่าสุดของไทยที่ยื่นต่อ USTR เมื่อค่ำวันที่ 17 กรกฎาคม สร้างความพึงพอใจให้แก่ฝ่ายสหรัฐฯค่อนข้างมาก โดยคาดหวังว่า “ตัวเลขสุดท้าย” ของอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯที่จะกำหนดสำหรับสินค้าไทย จะอยู่ในระดับที่ไทยยังสามารถแข่งขันทางการค้าได้
“ข้อเสนอที่ไทยยื่นเป็นรอบที่ 3 ซึ่งได้ปรับปรุงจากข้อเสนอชุดก่อนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ถือเป็นข้อเสนอที่สหรัฐฯ ให้การตอบรับในทิศทางที่ดี แม้ยังมีบางรายการที่อยู่ระหว่างการต่อรองเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะมีการหารืออย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออก ยังคาดหวังว่าสหรัฐฯจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้ใกล้เคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาค ”นายพจน์ กล่าว
ขณะที่ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวในเวทีเสวนา “ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก-Unlocking Thailand’s Future” จัดโดย บมจ.อสมท ว่า ตนเองฟันธงอัตราอัตราภาษีทรัมป์ของอาเซียนจะอยู่ที่ 20% บวกลบ เชื่อว่าการบริหารงานในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความเป็นนักธุรกิจมืออาชีพ สงครามการค้าที่เกิดขึ้นวันนี้ เป็นสงครามการค้าของโลก ไม่ใช่การทำร้ายซึ่งกัน สหรัฐฯต้องการให้เราซื้อสินค้าของเขามากขึ้น ฉะนั้นอัตราที่ดีที่สุดในอาเซียน จึงประเมินว่าจะอยู่ที่ 20% หากทุกประเทศโดนอัตราภาษีในอัตราใกล้เคียงกัน จะทำให้ประเทศไทยไม่เสียเปรียบ
ด้าน นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานเสวนา “ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก-Unlocking Thailand’s Future” ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมล่าสุดเดือน มิ.ย.2568 อยู่ที่ 87.7 ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบ 9 เดือนย้อนหลัง แต่ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล เพราะเป็นสิ่งที่มาจากความไม่มั่นใจ ไม่สบายใจ ผลการสำรวจของเดือนมิ.ย.ที่น่าห่วงคือ สมาชิก 47 กลุ่มอุตสาหกรรม มีเพียง 1 ใน 3 หรือ 12 กลุ่มอุตสาหกรรม เท่านั้น ที่รู้สึกเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่อีก 35 กลุ่มอุตสาหกรรม รู้สึกค่อนข้างไม่มั่นใจ ดังนั้นอยากให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เน้นหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะงบกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ให้เน้นการใช้สินค้าเมดอินไทยแลนด์ ที่จะช่วยต่ออายุผู้ประกอบการท้องถิ่นได้
สำหรับการส่งออกสินค้าไทย ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯถึง 18% โดยจากการประชุมกับ 47 อุตสาหกรรม หลายกลุ่มยินดีที่ยอมลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯเป็น 0% ยกเว้นบางกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ยังมีข้อจำกัด เช่น กลุ่มเคมี ที่ต้องขอเวลาปรับตัว อย่างไรก็ตามเราได้มีการเตรียมรับมือกรณีที่เกิดเคสที่เลวร้ายที่สุด ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ ที่ตั้งแต่มีข่าวเรื่องมาตรการภาษี ก็เริ่มปรับตัว ไม่ได้ส่งออกไปสหรัฐฯ แต่ยังเหลือกลุ่มมอเตอร์ไซต์และชิ้นส่วน ที่ยังต้องรอช่วงเวลา
“แม้ว่าสหรัฐฯมีประชากรอยู่กว่า 200 ล้านคน มีกำลังซื้อ 1 ใน 4 ของโลก แต่ยังมีประชากรในโลกอีกเกือบ 8,000 ล้านคน ถ้าเราร่วมมือกับภาครัฐ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ต้องเหนื่อยหน่อย เพื่อหาตลาดอื่นทดแทน พร้อมระบุยังมีปัญหาสินค้าที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯได้จะทะลักเข้าไทย ซึ่งน่าห่วงพอๆกัน”นายนาวา กล่าว
สำหรับการเจรจากับสหรัฐฯ มองว่าต้องเจรจาให้ดีที่สุด และต้องป้องกันตัวเองด้วย เชื่อมั่นว่าทีมไทยแลนด์จะสามารถเจรจาตามข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรม ซึ่งให้ข้อมูลไปก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯมากเกินไป
ขณะที่ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า วันนี้ศักยภาพของเรากำลังจะถูกท้าทายด้วยมาตรการภาษีตอบโต้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอัตราเท่าใด ก็คือความไม่แน่นอน ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นไทยจะต้องใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ฝ่าความท้าทาย Disruption of the century ปฏิรูปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ด้วย 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.กระตุก โดยเฉพาะ SMEs 2.ประคองกลุ่มที่พอจะช่วยตัวเองได้ แต่ได้รับผลกระทบเฉียบพลันจากภาษีทรัมป์ 3.ปฎิรูป ที่ต้องแยกกลุ่มให้ชัดเจนอย่าเหมาเข่ง
“ที่ผ่านมาเราเจอหลุมกับดักทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ และยังโดนกดด้วยโควิด อีกทั้งยังฟื้นตัวช้า และตอนนี้ก็กำลังโดนกดด้วยภาษีทรัมป์ ทุกครั้งที่โดนกด เราสูญเสียทรัพยากรสาธารณะจำนวนมาก และหากไม่ได้ใช้อย่างคุ้มค่าก็จะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ในส่วนของมาตรการกระตุก ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย พยายามผลักดันคุณสู้ เราช่วย ทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ซึ่งหวังว่าลูกหนี้เหล่านี้จะเร่งเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อลดและปลดหนี้”นายพยง กล่าว
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังต้องมีการลงทุนอีกมาก ซึ่งหากดูสัดส่วนเพดานหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 65% จากเพดาน 70% อาจจะต้องมีการปรับเพดานขึ้น แต่จะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นไปทำอะไร เป็นสิ่งที่ต้องมาช่วยกันทบทวน ในวิกฤติมีโอกาส ตอนนี้ในช่วงที่ประเทศไทยเจอหลายปัญหาถาโถม แต่ก็เป็นโอกาสที่จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ ส่วนการที่จะยกระดับรายได้ และเพิ่มโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจ อันดับแรก จะต้องเร่งเสริมสร้างทักษะ ดึงคนเข้าสู่ระบบการศึกษาที่สามารถนำไปสู่การจ้างงาน สามารถทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นโยบายสนับสนุนการลงทุน ต้องปกป้องผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ถูกจุด ,การเร่งให้ตัวช่วยกับผู้ประกอบการในประเทศใช้ทรัพยากรในประเทศ ใช้การจ้างงานในประเทศ การผลักดันการมีส่วนร่วมของภาครัฐ-เอกชน หรือในการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ด้านเทคโนโลยีและข้อมูลที่จำเป็น
ด้าน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ (Tariff) ว่า ขณะนี้เราเริ่มเห็นผลการเจรจาของประเทศต่างๆทยอยออกมา สะท้อนให้เห็นว่าการที่ไทยจะเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมีความสำคัญ และเมื่อมีรายละเอียดต่างๆออกมา ก็ต้องมีมาตรการต่างๆออกมารองรับ โดยต้องคำนึงถึงการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ หาวิธีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และสิ่งสำคัญที่ไม่อยากให้ละเลยคือ จะปรับตัวอย่างไรสำหรับอนาคต ส่วนมากเราจะเน้นระยะสั้นแล้วลืมระยะยาว ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่เราต้องปรับตัว ไม่ใช่เน้นแค่เรื่องตัวเลขส่งออก ตัวเลขลงทุน
“ผลกระทบจาก Tariff จะมาจากหลายช่องทาง ทั้งกลุ่มสินค้าส่งออก หากเราไปเจรจาเปิดตลาด ก็จะกระทบต่อกลุ่มที่ลดภาษีนำเข้า และอีกกลุ่มที่ ธปท.มีความเป็นห่วงคือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าทะลักเข้าไทย จากการที่ส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้ เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี จึงมีความเปราะบางสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ที่มีกลุ่มบริษัทข้ามชาติในสัดส่วนที่สูงกว่า”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ทั้งนี้มาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ที่ต้องหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งเราได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องถึงไม่ได้พูดคุยกันเฉพาะในระยะสั้น แต่มองไปถึงการปรับตัวในระยะยาว ส่วนจะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจหรือไม่นั้น คงต้องรอผลการเจรจาของทีมไทยแลนด์
ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึงมาตรการภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯประกาศใช้กับทุกประเทศ ว่า เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และไทยเป็นประเทศรั้งท้ายที่ยังคงอัตราภาษีที่ 36% หากตัวเลขออกมาแบบนี้ไทยจะเสียเปรียบด้านการส่งออก 11-17% จะทำให้มีปัญหาในการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 นี้ ที่สำคัญ ยังส่งผลต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาสู่ไทย เพราะถือเป็นโค้งสำคัญในการเปลี่ยนฐานการผลิตไปสู่เซกเตอร์ใหม่ ซึ่งไทยดำเนินการเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% อาจส่งผลให้นักลงทุนย้ายการลงทุนไปเวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นสิ่งที่กังวลที่สุดว่าในระยะยาวจะสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่ไทยได้หรือไม่
ทั้งนี้หากไทยสามารถเจรจาให้ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 25% นั่นน่าจะเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะยังใกล้เคียงเวียดนามที่ถูกเก็บในอัตรา 20% และอินโดนีเซียที่ถูกเก็บในอัตรา 19% โดยมองว่าส่วนต่าง 5-6% ที่เกินมานั้น น่าจะเป็นเงื่อนไขเจรจา เพื่อแลกกับบางรายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังไม่เก็บภาษีสินค้านำเข้า 0% จากสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบในกลุ่มอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร โดยประเมินว่าถ้าหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 25% น่าจะทำให้การส่งออกทั้งปี 2568 ทรงตัว จีดีพีเติบโตในระดับ 1.5-2% และในกรณีที่ไทยอาจถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงสุด 36% ประเมินว่าจำทำให้การส่งออกในปี 2568 นี้ติดลบ และจีดีพีเติบโตไม่ถึง 1.5%
**อนันตเดช พงษ์พันธุ์**
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี