วันจันทร์ ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / โลกธุรกิจ
รายงานพิเศษ :  ‘วิทัย รัตนากร’...ผู้ว่าแบงก์ชาติลำดับที่ 25 ตำแหน่งที่ได้มาพร้อมกับการที่ต้องแบกความหวังไว้เต็มบ่า

รายงานพิเศษ : ‘วิทัย รัตนากร’...ผู้ว่าแบงก์ชาติลำดับที่ 25 ตำแหน่งที่ได้มาพร้อมกับการที่ต้องแบกความหวังไว้เต็มบ่า

วันจันทร์ ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 07.15 น.
Tag : รายงานพิเศษ
  •  

**คงไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิดที่รู้สึกว่าตลอดช่วง 2-3 ปีมานี้ ภาคธุรกิจหลายเซ็กเตอร์ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้กุมนโยบายการเงินของไทย พยายามให้มากขึ้นที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายกว่านี้ เพื่อเป็นอีกแรงหนุนให้นโยบายการคลังที่เริ่มมีขีดจำกัดในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้รอดพ้นจากวิกฤติหลากหลายที่กำลังรุมเข้าถาโถมใส่เศรษฐกิจไทยอยู่ตอนนี้ และทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งให้ คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ (มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2568) ผู้นำองค์กรภาคธุรกิจหลายท่านก็ได้ออกมากล่าวถึง ว่าที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ว่าอยากจะให้ช่วยเร่งดำเนินการในภาคการเงิน เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจไทยได้ไปต่อในภาวะขับขันเช่นนี้

อย่างเช่น นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่เผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน นโยบายด้านการเงิน หรือ Monetary Policy ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเห็นจาก นายวิทัย รัตนากร ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ เร่งดำเนินการเรื่องแรกๆ คือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งสะสมมานานตั้งแต่วิกฤตโควิดจนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ เงินที่หามาได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ผู้ประกอบการรายย่อยต่างประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและต้องปิดกิจการ


อีกทั้งปัญหาหนี้นอกระบบยังคงซ้ำเติมประชาชน และนำไปสู่ปัญหาลูกโซ่ทางสังคม ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า คนไทยมีหนี้นอกระบบและในระบบรวมกันอยู่ถึง 104% ต่อ GDP การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบจึงควรถูกยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ ธปท.ต้องบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ธนาคาร และกลุ่ม Non-Bank ในการแก้ไขปัญหา เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ การส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการสร้างหนี้ที่มีคุณภาพ เสริมสร้างวินัยทางการเงิน และการวางแผนหนี้สินอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีกในระยะยาว

ขณะเดียวกันภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2568 นี้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด ดังนั้น ธปท.ต้องดำเนินนโยบายด้านการเงินที่มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีทรัมป์ และช่วยในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ทั้งในด้านการปรับตัวของ Supply Chain และการหาตลาดใหม่เพิ่มเติม ที่สำคัญ ธปท.ต้องเข้ามากำกับดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป หรือมีความผันผวนสูง ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า (Trade War) ในช่วงนี้

“เชื่อมั่นว่าด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของ นายวิทัย รัตนากร ว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติท่านใหม่ จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายทางการเงินและมาตรการต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน และยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคนี้ได้”นายเกรียงไกร กล่าว

ขณะที่ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การบ้านนโยบายการเงินใหญ่ 5 ข้อที่รอผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ เข้ามาเร่งสานต่อและแก้ไข เรื่องเร่งด่วนที่สุด คือ 1.การดูแลส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันนี้อัตราส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝาก ต่างกันมาก 2.การแก้ปัญหาหนี้ ของทั้งครัวเรือน และของภาคธุรกิจ ทั้งในระบบและนอกระบบ เพราะปัจจุบันนี้หนี้ครัวเป็นปีศาจร้าย ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องชะลอ ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีสายป่านในการดำเนินชีวิตและธุรกิจต่อ 3.ต้องการให้เข้ามาดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้เหมาะสม เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอ่อนกว่าคู่แข่งในตลาดโลก และบางครั้งอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กระทบต่อขีดความสามารถแข่งขันทางการค้าของไทย หากค่าเงินอยู่ในอัตราที่เหมาะสม จะช่วยผลักดันภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยิ่งขณะนี้ยังมีความเสี่ยงจากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะลดลงเท่าไร จากปัจจุบันสหรัฐฯประกาศให้ไทยอยู่ที่อัตรา 36% และจะสิ้นสุดการเจรจาวันที่ 1 สิงหาคมนี้

4.การเดินหน้านโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย การดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อ ให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังของรัฐบาล ให้มีกระแสเงินไหลเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาคการผลิตหลักส่วนใหญ่ของประเทศ ต่างบอบช้ำตามภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศ แต่สถาบันการเงินกลับเติบโตสวนทาง และ 5.ขอให้มีทางเลือกใหม่ๆในตลาดการเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาเราพึ่งพิงแต่ธนาคารพาณิชย์มากเกินไปใช่หรือไม่ ซึ่งนับวันธนาคารมีแต่จะโตวันโตคืน ขยายขอบเขตการบริการมากมาย

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า เบื้องต้นธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมมีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้ ธปท.พิจารณาหลักๆ คือ การพิจารณาลดภาระทางการเงินของธุรกิจ ซึ่งปกติช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี จะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) แต่ธุรกิจโรงแรมยังจำเป็นต้องชำระภาษีที่ดิน โดยเฉพาะปี 2568 นี้ที่หลายโรงแรมขาดกระแสเงินสด โดยเฉพาะโรงแรมในต่างจังหวัดที่มีเนื้อที่เยอะ แม้ไม่ได้เป็นโรงแรมในระดับ 4-5 ดาวก็ตาม จึงอยากให้ ธปท.มีมาตรการยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนภาระการเงินเหล่านี้

“การมีผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่นี้ เอกชนอยากให้พิจารณามาตรการต่างๆที่จะออกมาในระยะถัดไปอย่างเหมาะสม ทำงานภายใต้ความเป็นอิสระ แต่รับฟังเสียงของธุรกิจด้วยว่ามีผลกระทบอะไรหรืออย่างไร จึงต้องบอกว่าการมีผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่นี้ ถือเป็นความคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการรับฟังเสียงสะท้อนของธุรกิจมากขึ้น เพราะมีภาษีสหรัฐฯเข้ามาส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน ทั้งการส่งออก ท่องเที่ยว โรงงาน โรงแรมต่างๆ เป็นส่วนประกอบในการพิจารณาเพื่อยืดหยุ่นการออกมาตรการให้กับผู้ประกอบการ เป็นการรับฟัง แม้ไม่ได้รับข้อเสนอไปดำเนินการ แต่ขอให้รับฟังก่อน ไม่ใช่การนิ่งเฉยหรืออิกนอร์ไปเลย”นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว

ส่วนอัตราดอกเบี้ย หากมีการปรับลดลงได้อีก ก็ถือเป็นผลเชิงบวกต่อภาคธุรกิจและการลงทุนอยู่แล้ว เนื่องจากส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ส่วนเรื่องอื่นๆ อาทิ ค่าเงินบาทที่วิ่งอยู่ในโซนแข็งค่านั้น มองว่า ธปท.มีการควบคุมดูแลอยู่แล้ว แต่อยากให้พิจารณาค่าเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด ขณะเดียวกันมีข้อเสนอในเรื่องการเดินหน้าสู่ความยั่งยืน โดยในธุรกิจโรงแรม การจะไปสู่กรีนโฮเทล หรือโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ธปท.ต้องมีแพคเกจกสนับสนุนต้นทุนที่เกิดขึ้น อาทิ อาจช่วยเรื่องค่าตรวจประเมินในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีโรงแรมจำนวน 600 แห่ง พยายามตรวจประเมินให้ผ่านเกณฑ์สู่กรีนโฮเทลในปี 2569

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ นั้น เห็นว่าเหมาะสม และอยากเห็นการแอคชั่นแรกๆของผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ซึ่งประเด็นการเงินการคลังในวันนี้ ภาคเอกชนพูดมาตลอด ได้แก่ 1.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและแข็งค่าเร็ว ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้เสียความสามารถการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่ต้องแย่งกันหาตลาดทดแทนการส่งออก หลังจากสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราที่สูงต่ำแตกต่างกัน 2.ควรทบทวนอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการลดต้นทุน 3.ธปท.ควรหารือกับสมาคมธนาคารไทย และกระทรวงการคลัง ออกมาตรการอัดฉีดเงินช่วยสภาพคล่องและเงินหมุนเวียนการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและรายย่อย 4.เตรียมพร้อมมาตรการช่วยเหลือ-เยียวยา ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับกระทบจากภาษีทรัมป์

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีและมองว่าจะทำงานร่วมกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ในการขับเคลื่อนนโยบายการเงินและการคลังอย่างสอดคล้องกันได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลักดันการลดดอดเบี้ยนโยบาย สู่การปรับดอกเบี้ยที่แท้จริง เพื่อลดภาระประชาชนและภาคธุรกิจที่แท้จริง ขับเคลื่อนในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นลำดับแรกของความสำคัญเพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ควบคู่เสถียรภาพทางการเงิน นอกจากนี้ยังสร้างการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ในการปล่อยสินเชื่อหรือเงินฝาก ผ่านการเพิ่มผู้เล่นมากขึ้นในระบบธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ และแก้หนี้เสียรายย่อยในระบบร่วมกับกระทรวงการคลังได้อีกด้วย

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ขานรับผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ เนื่องจากมีประสบการณ์ผ่านการทำงานธนาคารออมสินอยู่หลายปี จึงน่าจะมีมุมมองและมีความเข้าใจบริบทในการแก้ปัญหาของภาคเอกชนและประชาชนในระดับล่าง รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อรายบุคคล ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงน่าจะมีมุมมองในการทำงานและภารกิจของ ธปท.ต่อไป ในอีกมุมมองหนึ่งในบางเรื่องให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในแง่ของนโยบายด้านการเงินที่จะมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น หลัง ธปท.รักษาเสถียรภาพการเงินมานานมากแล้ว รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มจะปรับลดลงอีกในระยะถัดไป จะเป็นปัจจัยบวกต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยผ่าน เฟซบุ๊ก “อมรเทพ จาวะลา” โดยระบุว่า บทบาทที่คาดหวังจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ : “ลงจากหอคอย สู่ท้องทุ่ง” เพื่อฟังเสียงจากรากหญ้า การที่ประเทศไทยได้ นายวิทัย รัตนากร ขึ้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และภาคการผลิตต้องการการฟื้นตัว บทบาทของผู้ว่า ธปท.จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้รักษาเสถียรภาพ แต่ต้องเป็นผู้นำที่กล้าพอจะ “ฝ่าคลื่นใหญ่” ด้วยหัวใจที่มั่นคงและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

นายวิทัยมีจุดแข็งในฐานะผู้บริหารที่เคยผ่านการพลิกฟื้นสถาบันการเงินมาแล้วหลายแห่ง เช่น ธนาคารอิสลาม และออมสิน จุดแข็งของเขาคือ “การบริหารทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทผู้ว่า ธปท.ที่ต้อง “กล้าคิดใหญ่” เพื่ออนาคตประเทศ แต่ก็ “เดินอย่างระมัดระวัง” ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน ภายใต้แรงกดดันจากภาคธุรกิจและประชาชนเรื่องดอกเบี้ยที่ยังสูง ผู้ว่าคนใหม่ควรกล้าประเมินทิศทางนโยบายการเงินโดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนตัวเล็ก SME และผู้มีรายได้น้อย ไม่ใช่เพียงการมองตัวเลขเงินเฟ้อ หรือ​ GDP แต่ต้องเชื่อมโยงอัตราดอกเบี้ยเข้ากับ “ชีวิตจริง” ของเศรษฐกิจไทย

บทบาทของผู้ว่าแบงก์ชาติยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ระวังฟองสบู่หรือบริหารค่าเงินบาท แต่ต้อง “เปิดพื้นที่” ให้เทคโนโลยีทางการเงิน เช่น ดิจิทัลแบงก์ และระบบสินเชื่อใหม่ๆได้เติบโต โดยไม่ละทิ้งกรอบกำกับดูแลที่เข้มแข็ง สมดุลนี้คือหัวใจของการสร้างระบบการเงินที่ “ทั้งปลอดภัยและไม่ล้าสมัย”

ความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางไม่ได้เกิดจากตำแหน่ง แต่เกิดจาก “ความไว้วางใจ” ที่ประชาชนรู้สึกได้ ผู้ว่าคนใหม่ควรกล้าสื่อสารในภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจ กล้าบอกความจริง แม้บางเรื่องอาจไม่เป็นที่นิยม และกล้าฟังเสียงที่หลากหลาย เพื่อให้ ธปท.เป็นธนาคารกลางที่ประชาชนรู้สึกว่า “อยู่ข้างเขา” จริงๆ ในภาวะเศรษฐกิจโลกวันนี้ต้องการผู้นำที่มองไกล และ “กล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง” แม้ไม่เป็นที่นิยมในระยะสั้น นโยบายบางอย่างอาจไม่ใช่คำตอบง่ายๆ แต่อาจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปูทางสู่เศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพในระยะยาว ผู้ว่าคนใหม่ต้องมีความกล้าเช่นนั้น และธนาคารกลางที่ดี ต้องมี “เสาหลัก” ที่ไม่เอนตามแรงลม ผู้ว่าคนใหม่ควรมี “ความเป็นอิสระ” อย่างแท้จริง-อิสระจากแรงกดดันทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ หรือความคาดหวังระยะสั้น ความอิสระนี้ไม่ใช่การตัดขาดจากสังคม แต่คือการยืนอยู่บนหลักวิชา ใช้ข้อมูลตัดสินใจ และกล้ารับผิดชอบต่อผลลัพธ์ ด้วยหัวใจที่มั่นคง ผู้ว่าที่กล้ายืนอย่างอิสระ คือผู้ว่าที่ปกป้องผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ แม้ต้องแลกกับความไม่เป็นที่รักชั่วคราว

ในฐานะที่เคยเป็นทั้งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นักนโยบาย และนักปฏิรูป นายวิทัยมีโอกาสจะใช้เวทีของ ธปท.เป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ การลงทุนในศักยภาพคน และการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน บทบาทผู้ว่าจึงอาจไม่ใช่แค่ “ดูแลนโยบายการเงิน” แต่เป็น “พลังส่ง” ให้ประเทศข้ามพ้นกับดักเดิม สุดท้าย บทบาทของผู้ว่า ธปท.ไม่ใช่ภาพฝันที่สวยงาม แต่คือ “ภาระหนัก” ที่ต้องการคนที่ทั้งกล้า ทน และนิ่งพอจะรักษาทิศทางท่ามกลางพายุ หากนายวิทัยสามารถยืนหยัดในบทบาทนี้ด้วยความโปร่งใส เปิดใจ และกล้าตัดสินใจอย่างเป็นธรรม ประเทศไทยก็อาจได้ไม่ใช่แค่ผู้ว่า “ในฝัน” แต่ได้ผู้นำที่ “ใช่จริงๆ” ในเวลาที่จำเป็นที่สุด...

ด้าน นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า คุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ โดยเน้นว่าต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ ยึดหลักการ มีความยืดหยุ่นเชิงกลยุทธ์ และมีความเข้าใจในบริบทภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย หน้าที่ของธนาคารกลางในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การควบคุมอัตราดอกเบี้ย หรือดูแลค่าเงินบาทเท่านั้น แต่ต้องทำงานอย่างเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีความสมดุล โดยเฉพาะในยุคที่นโยบายการเงินและการคลังอาจไม่สอดคล้องกัน ผู้ว่าแบงก์ชาติจึงต้องมี “หลักการ” เป็นเข็มทิศในการดำเนินนโยบาย ไม่ถูกชักนำหรืออิงกับรัฐบาลจนเกินไป

“ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป หากอยู่ภายใต้กรอบการถ่วงดุลอำนาจ ผู้ว่าแบงก์ชาติที่ดีต้องรักษาอิสระในการตัดสินใจ ใช้เหตุผลบนหลักการ ขณะเดียวกันก็ต้องมีชั้นเชิงทางการทูต เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดกับรัฐบาล”นายสมชาย กล่าว

นอกจากนี้ผู้ว่าการ ธปท.ควรมี “ความยืดหยุ่นในเชิงกลยุทธ์” เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในบริบทที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินบาทและการค้าไทย

“ภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างมาก ถ้าผู้ว่าไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ ก็อาจทำให้การบริหารค่าเงินบาทผิดพลาด เช่น ทำให้เงินบาทแข็งเกินไปหรือลอยตัวมากเกินจนกระทบภาคส่งออก”นายสมชาย กล่าว

** อนันตเดช พงษ์พันธุ์**

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • รายงานพิเศษ :  ไทยมีหวังหรือไม่ที่จะถูกสหรัฐฯเก็บภาษีต่ำกว่า 36% ถ้าไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้นและต้องทำอย่างไร รายงานพิเศษ : ไทยมีหวังหรือไม่ที่จะถูกสหรัฐฯเก็บภาษีต่ำกว่า 36% ถ้าไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้นและต้องทำอย่างไร
  • รายงานพิเศษ :  EXIM BANK ผนึกกำลัง SINOSURE สนับสนุนผู้ประกอบการไทย-จีน ขยายการส่งออกและลงทุน รายงานพิเศษ : EXIM BANK ผนึกกำลัง SINOSURE สนับสนุนผู้ประกอบการไทย-จีน ขยายการส่งออกและลงทุน
  • รายงานพิเศษ : วางใจได้แค่ไหนที่ตัวเลขส่งออกยังขยายตัว รายงานพิเศษ : วางใจได้แค่ไหนที่ตัวเลขส่งออกยังขยายตัว
  • รายงานพิเศษ : โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัญหา หากไม่แก้ไข GDP จะโตต่ำกว่า 2% อย่างถาวร รายงานพิเศษ : โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัญหา หากไม่แก้ไข GDP จะโตต่ำกว่า 2% อย่างถาวร
  • รายงานพิเศษ : \'ทรัมป์\' ทำเศรษฐกิจปั่นป่วนทั่วโลก ไทยรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการค้า รายงานพิเศษ : 'ทรัมป์' ทำเศรษฐกิจปั่นป่วนทั่วโลก ไทยรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการค้า
  • รายงานพิเศษ : SETHD Index: ดัชนีหุ้นปันผล อีกหนึ่งมุมมองในการเลือกลงทุนในหุ้นปันผล รายงานพิเศษ : SETHD Index: ดัชนีหุ้นปันผล อีกหนึ่งมุมมองในการเลือกลงทุนในหุ้นปันผล
  •  

Breaking News

'สมคิด'เผย'สส.เพื่อไทย'จัดชุดลาดตระเวน ดูแลทรัพย์สินให้ชาวอุบลฯ

'อิ๊งค์'โผล่'น่าน'ดูความเสียหายน้ำท่วม ยันรบ.ไม่ทิ้งปชช.

ปลอมยัน‘เมียฮุน มาเนต’!จับโป๊ะแชร์ภาพสหรัฐดับไฟป่าแคลิฟอร์เนีย ใส่ร้ายไทยใช้แก๊สพิษ

'กกต.'นัดถก 29 ก.ค.นี้!! พิจารณาเลื่อนการจัดเลือกตั้งซ่อม เขต 5 จ.ศรีสะเกษ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved