นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ หัวหน้าผู้จัดการทั่วไป บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัท อัครา มีประทานบัตรอยู่ 4 แปลง ใน จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ เป็นประทานบัตรเดิมที่ได้รับการต่ออายุ 10 ปี นับตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2564-29 ธันวาคม 2574 รวมทั้งมีแปลงอื่นๆอีกจำนวนหนึ่งซึ่งจะจะหมดอายุในปี 2571 ก่อน 4 แปลงที่ได้ต่ออายุ นอกจากนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 คณะกรรมแร่ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจแร่ทองคำ จำนวน 44 แปลง ในพื้นที่อำเภอชนแดน และวังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นคำขอที่ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และปี 2548 และได้มีการดำเนินการต่อตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำและพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีอายุในการสำรวจไม่เกินแปลงละ 5 ปี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงได้อนุญาตเป็นอาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2563-46/2563 ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2568 ซึ่งแปลงสำรวจนี้เริ่มเห็นความเป็นไปได้ว่าจะสามารถผลิตทองคำได้ คาดว่าอีก 2-3 ปีหลังจากนี้จะมีความชัดเจนเรื่องการตัดสินใจลงทุน
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรีหรือเหมืองทองอัครานั้น ตั้งแต่กลับมาเปิดดำเนินการรอบใหม่นี้ นับตั้งแต่มีนาคม 2566 จนถึงมิถุนายน 2568 บริษัท อัคราจ่ายค่าภาคหลวงไปแล้ว 1,535 ล้านบาท โดย 40% ของค่าภาคหลวงแร่จะถูกจัดสรรให้เป็นรายได้รัฐ อีก 50% ถูกจัดสรรให้แก่ชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินการทำเหมือง โดยแบ่งเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ประทานบัตรตั้งอยู่ 20% องค์การบริหารส่วนตำบลที่ประทานบัตรตั้งอยู่ 20% และองค์การบริหารส่วนตำบลภายในจังหวัดอีก 10% และส่วนสุดท้ายอีก 10% ที่เหลือจะถูกจัดสรรให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ ซึ่งช่วยเสริมศักยภาพขององค์กรท้องถิ่นในการดูแลประชาชนได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดงานและโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่จำนวนมาก นอกจากนี้บริษัท อัครายังจ่ายเงินบำรุงพิเศษ 5% โดยคำนวณจากค่าภาคหลวงแร่ ให้กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ไปแล้วกว่า 76 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาวิจัยด้านแร่ ปรับสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว
นอกจากนี้บริษัท อัคราต้องจัดสรรเข้ากองทุนจำนวน 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง ซึ่งบริษัท อัคราต้องนำเงินเข้ากองทุนในอัตรา 21% ของค่าภาคหลวงแร่ และต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี ในปี 2568 บริษัท อัคราได้จัดสรรเงินเข้ากองทุนเหล่านี้ไปแล้วกว่า 132 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้มาก และหากนับรวมตั้งแต่กลับมาเปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบันบริษัท อัคราได้จัดสรรเงินเข้ากองทุนทั้งสิ้นกว่า 322 ล้านบาท
“สำหรับประเด็นข้อพิพาทกับรัฐบาลไทยตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกันยายน 2568 นี้ เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังเลื่อนการพิจารณาสรุปมาหลายครั้ง”นายเชิดศักดิ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี