นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.1 ในเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นผลจากการปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชา และการระงับการนำเข้าน้ำมัน และก๊าซ LNG จากไทย ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ส่วนกรณีที่สหรัฐฯปรับขึ้นภาษี Sectoral Tariff ในกลุ่มสินค้าเหล็ก และอลูมิเนียมจาก 25% เป็น 50% กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย, ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ส่งผลกระทบทำให้ราคาพลังงานผันผวน, การส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัว อีกทั้งการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศกดดันผู้ประกอบการ, การผลิตเพื่อส่งออกเริ่มถูกแทนที่ด้วยสินค้านำเข้า, ราคาสินค้าเกษตรหดตัวรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร และทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลง รวมถึงความขัดแย้งและความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคเอกชน รวมทั้งเงินบาทแข็งค่าพร้อมสกุลเงินอื่น จากเงินทุนไหลเข้าภูมิภาค และการอ่อนค่าของดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดีในเดือนมิถุนายนนี้ยังคงมีปัจจัยบวกจากการเร่งส่งออกก่อนสิ้นสุดมาตรการชะลอการเก็บภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในเดือนกรกฎาคม 2568 ขณะเดียวกันสัญญาณการเจรจาการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ยังมีทิศทางเชิงบวก และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการช่วงกลางปี ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 90.8 ลดลงจาก 91.7 ในเดือนพฤษภาคม 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนจากปัญหาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา รวมถึงการปิดด่านอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย, ด้านคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในบางกิจการ มีผลวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 กระทบต่อต้นทุนการจ้างของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการค้า อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากการอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4% และโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง 2568 คาดว่าจะช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างทั่วถึง
นายนาวา กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1.ขอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่านการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา เช่น ช่วยรับซื้อและกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่น จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พักชำระหนี้ชั่วคราวสำหรับ SME ชดเชยค่าจ้างให้แรงงานกรณีปิดกิจการชั่วคราว เป็นต้น 2.ขอให้ภาครัฐเร่งรัดการใช้จ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ให้ดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบโครงการอย่างเคร่งครัดและโปร่งใส 3.ขอให้ภาครัฐเร่งเจรจาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าในสหรัฐฯ (Reciprocal Tariff) ให้ลดลงสู่ระดับที่สามารถแข่งขันได้ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี