น.ส.ณัฐิยา สุจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการสร้างเสถียรภาพและความเข้มแข็งทางการค้าสินค้าปาล์มน้ำมันว่า สนค. ได้เล็งเห็นแนวโน้มความต้องการน้ำมันพืชของโลกที่เติบโตต่อเนื่อง และไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าปาล์มน้ำมัน จึงเป็นโอกาสสำคัญในการขยายตลาดและยกระดับการค้าสินค้าปาล์มน้ำมันของไทย
สนค. จะนำข้อมูลและความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนไปวิเคราะห์ประมวลผลและจัดทำรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ พร้อมจัดทำเอกสารเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการ เพื่อเผยแพร่ผลการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย การสร้างเสถียรภาพและความเข้มแข็งทางการค้าสินค้าปาล์มน้ำมัน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรไทยให้มีมูลค่าสูง เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลกต่อไป
ผลการศึกษาข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) พบว่า การบริโภคน้ำมันปาล์มโลก ในปี 2567/68 คาดว่าจะขยายตัว 4.30% และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563/64–2567/68) อยู่ที่ 1.57% ต่อปี ได้แรงหนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมที่เติบโต 2.93% และการบริโภคเพื่อการประกอบอาหารที่เติบโต 0.95% โดยไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีปริมาณผลผลิต 3.70 ล้านตัน คิดเป็น 4.65% ของการผลิตโลก และจากฐานข้อมูล Trademap ไทยส่งออกปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์ม และน้ำมันเมล็ดในปาล์ม เป็นอันดับ 4 ของโลก (พิกัดศุลกากร 1207.10 1511.10 1511.90 1513.21 และ 1513.29) มีมูลค่า 1,057.28 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 2.36% ของมูลค่าการส่งออกของโลก เพิ่มขึ้น 11.04% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินเดีย สัดส่วน 72.25% มาเลเซีย 11.79% และเมียนมา 9.19%
ปัจจุบันการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภค ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขภาพ จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ด้านมาตรฐานการผลิตอย่างยั่งยืน ผู้บริโภคให้ความสำคัญในประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่การผลิตปาล์มน้ำมันตามหลักการ Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ซึ่งเป็นมาตรฐานความยั่งยืนระดับโลก มีต้นทุนในการขอรับรองมาตรฐานที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งมาตรการ EU Deforestation Regulation (EUDR) ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้านการผลิต เป็นความท้าทายสำคัญ ที่ต้องพัฒนาคุณภาพผลผลิตปาล์มน้ำมันให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ซึ่งมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร คนตัดปาล์ม ลานเท และโรงสกัด ที่จะต้องร่วมมือกันผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มคุณภาพ เพื่อให้ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น
น.ส.ณัฐิยากล่าวว่าการดำเนินโครงการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการสร้างเสถียรภาพ โอกาสและศักยภาพการแข่งขันทางการค้าให้กับสินค้าปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ยังได้จัดทำฉากทัศน์ภาพอนาคต ปาล์มน้ำมัน โดยวิเคราะห์ คาดการณ์ปัจจัยและแนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นต่อการค้าปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานสามารถเตรียมความพร้อมในการปรับตัว วางแผนนโยบาย และกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานต่อไป
“จากการศึกษามีข้อเสนอเบื้องต้น เช่น ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตผลปาล์มคุณภาพเพื่อให้ได้ทะลายใหญ่ น้ำหนักดี มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ควรพัฒนาระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลการผลิตปาล์มและปริมาณทั้งประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนเชิงนโยบาย การผลักดันการต่อยอดน้ำมันปาล์มสู่อุตสาหกรรมโอลีโอเคมีเพิ่มขึ้นในระยะยาว ตลอดจนหาตลาดศักยภาพรองรับสินค้าปาล์มน้ำมันที่ได้รับมาตรฐานปาล์มน้ำมันยั่งยืน”น.ส.ณัฐิยากล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี