นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM ) นำโดย นางสาวอู๋ ฮุ่ยเชียว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี พร้อมด้วย นายเจมส์ หยาง รองประธานตลาดต่างประเทศ นายเวย์น โจว กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และทีมผู้บริหาร เข้าพบ เพื่อยืนยันการลงทุนระยะยาวในประเทศไทย และขอหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมยานยนต์อัจฉริยะ และการพัฒนาอุตสาหกรรม ยานยนต์ในประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยานยนต์ไร้คนขับในอนาคต
การเข้าพบครั้งนี้มีวาระสำคัญเนื่องในโอกาสครบรอบ 35 ปี ของการก่อตั้งบริษัทเกรท วอลล์ มอเตอร์ ในประเทศจีน โดยคณะผู้บริหารระดับสูงจากสำนักงานใหญ่ได้เดินทางมาเยี่ยมคารวะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยืนยันว่าไทยยังคงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของบริษัทฯ และจะลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในอนาคต พร้อมกันนี้ยังแสดงความเชื่อมั่นในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ประเภท Pick-Up และ PPV สู่ตลาดโลก ภายใต้นโยบาย “70@30” โดยจะใช้เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ พร้อมรับประกันคุณภาพสูงถึง 1,000,000 กิโลเมตร รวมถึงการเตรียมเปิดตัวรถยนต์ BEV รุ่นใหม่ในไทยช่วงต้นปี 2569 ซึ่งจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Intelligent) เพื่อยกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่และแนวโน้มของตลาดโลก
ปัจจุบันบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเขตประกอบการเสรี (Free Zone)เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 หลังเข้าซื้อกิจการจากบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย และได้กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากจีนรายแรกที่ส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังต่างประเทศเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สำหรับการผลิตรถยนต์ HEV, PHEV และ BEV รวมกำลังการผลิตมากกว่า 30,000 คันต่อปี และยังได้เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้ EV ของรัฐ ทั้งในโครงการ EV3.0 และ EV3.5
นายเอกนัฏ ย้ำว่า วันนี้คือบทพิสูจน์ว่าประเทศไทยไม่ใช่เพียงตลาดปลายทาง แต่คือศูนย์กลางการผลิตและนวัตกรรมของโลก ซึ่ง GWM แสดงความเชื่อมั่นอย่างชัดเจนว่าไทยคือพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมยินดีที่จะสนับสนุนการลงทุนในทุกมิติ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ และบุคลากร เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลาง EV และยานยนต์ไร้คนขับของภูมิภาคอาเซียน
ส่วนความก้าวหน้าของนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ภายใต้เป้าหมาย “30@30” ที่ต้องการให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยอย่างน้อย 30% เป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 พร้อมชี้แจงการดำเนินนโยบายใน 3 มิติ ได้แก่ 1.การส่งเสริมด้านอุปทาน เช่น การผลิต BEV และชิ้นส่วนหลักอย่างแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมรวมแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท 2.ด้านอุปสงค์ เช่น มาตรการ EV3, EV3.5 การลดภาษีนิติบุคคล ฯลฯ และ 3.ด้านการสร้างระบบนิเวศ เช่น การขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครบ 12,000 หัวจ่ายภายในปี 2573 การจัดตั้งศูนย์ทดสอบ ATTRIC การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้าน EV และการวางมาตรฐานโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมออกแนวทางและกฎหมายเพื่อจัดการซากรถและแบตเตอรี่ใช้แล้วให้เกิดการรีไซเคิลอย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมการผลิตรถยนต์ HEV และ MHEV ภายในประเทศ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษหากลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท และใช้ชิ้นส่วนในประเทศตามเงื่อนไข รวมถึงการสนับสนุนการติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ในรถยนต์รุ่นใหม่
"การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นแบตเตอรี่ แต่หมายถึงการยกระดับทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม รัฐบาลพร้อมเปิดกว้างต่อเทคโนโลยีทุกรูปแบบที่ช่วยลดมลพิษ เพิ่มความปลอดภัย และตอบโจทย์ตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น BEV, HEV, MHEV หรือแม้แต่ยานยนต์ไร้คนขับ ไทยยังตั้งเป้าเป็นฐานการผลิต EV เพื่อการส่งออก โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน การทดสอบ การรับรองคุณภาพ และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบ FTA กับทั้งประเทศคู่ค้าเดิม และการเจรจาใหม่ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์"นายเอกนัฏ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี