สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม และ บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) เปิดตัว แพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI (Artificial Intelligence) อย่างเป็นทางการ หวังต่อยอดขยายผลทุกภาคการเกษตร ที่มีภาวการณ์สร้างมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 เชื่อมั่นเครื่องมือจะช่วยลดการก่อมลภาวะให้ลดลงถึงค่ามาตรฐาน หนุนอุตสาหกรรมการเกษตรเติบโต เสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ยั่งยืน
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปีการผลิต 2567/2568 มีชาวไร่อ้อยขึ้นทะเบียน 430,357 ราย พื้นที่ปลูกอ้อย 11.13 ล้านไร่ ปริมาณอ้อยเข้าหีบ 92.04 ล้านตัน เฉลี่ยผลิตน้ำตาลได้ต่อตาลอ้อย 109.19 กิโลกรัม/ตัน ทั้งนี้ในปี 2567 อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่า 184,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2568 ณ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพียงครึ่งปี สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไปแล้วมากกว่า 92,500 ล้านบาท
ทั้งนี้จากข้อมูลองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ International Sugar Organization หรือ ISO ประเทศไทยเรามีสัดส่วนการผลิตน้ำตาลโลก อยู่ที่ 5% ถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 5 รองจากบราซิล อินเดีย สหภาพยุโรป และจีน โดยมีสัดส่วนในการส่งออกน้ำตาลโลกอยู่ที่ 9% เป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล สูงกว่าอินเดียในปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมน้ำตาลที่แข็งแรงของไทย จนมีบทบาทที่สำคัญต่อตลาดน้ำตาลของโลก
นายใบน้อย กล่าวว่า สอน. มุ่งเน้นในการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ทันสมัยสะอาด สะดวกโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2567/2568 สอน. ได้ดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อย เพื่อลดปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ใน 6 มาตรการ ซึ่ง 1 ใน 6 มาตรการนั้น คือ การส่งเสริมเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาใช้เทคโนโลยีติดตามการเผาและร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อยด้วยดาวเทียม ที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Burn Tracking ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญร่วมกับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
“จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว สามารถลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบสูงสุดที่ 85% (78.3 ล้านตัน) ปริมาณเผาอ้อยเข้าหีบเพียง 15% (13.68 ล้านตัน) ลดลงจากฤดูการผลิตปี 2566/2567 ที่มีปริมาณการเผาอ้อยเข้าหีบทั้งฤดูกาลผลิตกว่า 29% (24 ล้านตัน) ลดการเผาอ้อยลงได้กว่า 10 ล้านตัน เทียบเท่าลดการเผาป่าลงได้กว่า 1 ล้านไร่ หรือลดการปลดปล่อย PM 2.5 ลงได้กว่า 5,000 ตัน/ปี ซึ่งต่ำกว่าเป็นประวัติการณ์ นับเป็นโอกาสอันดี ที่ สอน. และไทยคม ได้แนะนำให้ทุกคนรู้จักกับแพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI เครื่องมือสำคัญอย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของเรา ที่จะเดินหน้าในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่น PM 2.5 อย่างครอบคลุม”นายใบน้อยกล่าว
นายใบน้อย กล่าวว่า แผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2569 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทาง สอน.มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกพันธกิจด้วยการ ‘ใช้หัว’ และ ‘ใจ’ ปั้นอุตสาหกรรมไทยสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรชาวไร่อ้อยน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นไบโอฮับ ออฟอาเซียน ภายในปี 2570 พัฒนาพลาสติกชีวภาพ เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่น PM 2.5 สร้างเครือข่าย Center of BioExcellent รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตผลอ้อยประสิทธิภาพน้ำตาลทราย สร้างนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไทยคม ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ในการนำเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Tech มาคิดค้นนวัตกรรมและบริการเพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจ ที่ได้จับมือกับ สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจากระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI เพื่อการส่งเสริมสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดฝุ่น PM 2.5
นายปฐมภพ กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้เรียกอีกอย่างว่า Burn Tracking เป็นระบบวิเคราะห์เพื่อติดตามการเผาและร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียม โดยจะแสดงผลการวิเคราะห์ภาพรวมของการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกอ้อยในรูปแบบ Dashboard เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ พร้อมแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ปลูกอ้อย ผลผลิตอ้อย การคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าโรงงาน รวมถึงจุดความร้อนและพื้นที่ที่มีร่องรอยการเผาไหม้ โดยนำเสนอในรูปแบบแผนที่เชิงพื้นที่ อำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการนำข้อมูลผลการวิเคราะห์ไปใช้งาน โดยสามารถส่งออกข้อมูลได้ทั้งในรูปแบบไฟล์ PDF และ CSV สามารถรับข้อมูลข่าวสาร พูดคุยสอบถามกับเจ้าหน้าที่ และรับการแจ้งเตือนจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกอ้อยได้อย่างสะดวก ผ่าน Line Official Account
“ไทยคม ขอขอบคุณ และยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะนี้อย่างเต็มศักยภาพด้วยเทคโนโลยี Space Tech และข้อมูลภูมิสารสนเทศจากระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI อันจะบรรลุผลสำคัญในการส่งเสริมสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดฝุ่น PM 2.5 อันเกิดจากการเผาไหม้ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่เพียงอุตสาหกรรมอ้อยเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ อีกด้วย มีซึ่ง การร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโต หนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และยั่งยืนต่อไป”นายปฐมภพกล่าว
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี