สื่อนอกตีข่าวอาชีพ‘เอ็นเตอร์เทนเนอร์’ ช่องทางแอบแฝงนำเด็กมาค้ามนุษย์ในเมืองไทย
25 กันยายน 2562 สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอรายงานพิเศษ “Look, don't touch: Thai bars raided for trafficking child entertainers” ว่าด้วยอาชีพ “เอ็นเตอร์เทนเนอร์ (Entertainer)” ที่ให้ความบันเทิงกับลูกค้าในระดับหนึ่งแต่ไม่ถึงขั้นขายบริการทางเพศ อาทิ ที่ จ.เชียงใหม่ ประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการไทยได้เข้าตรวจค้นร้านคาราโอเกะ 2 แห่ง หลังทราบเบาะแสว่ามีเยาวชนอายุไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดทำงาน
หญิงอายุไม่ถึง 18 ปีอย่างน้อย 4 คนซึ่งทำงานในร้านที่ถูกตรวจค้น ทั้งหมดให้การว่า ไม่ได้ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า หรือบังคับให้ต้องสวมเสื้อและกระโปรงสั้น อาทิ พิม (Pim) อายุ 16 ปี เล่าว่า ลูกค้าจะทำได้แต่เพียงการกอด จับมือและหอมแก้มเท่านั้น แต่ก็ยอมรับว่ามีลูกค้าบางคนพยายามจับหน้าอกซึ่งเธอก็ต้องพยายามกันมือออกไป พิมนั้นสามารถหาเงินได้คืนละ 23 เหรียญสหรัฐ หรือราว 700 บาท มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำของคนทำงานทั่วไปในประเทศไทยกว่าเท่าตัว
สาววัย 16 ปีรายนี้ เล่าต่อไปว่า เธออยู่ในชนบทห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปไกลราว 70 กิโลเมตร ชีวิตที่นั่นยากลำบาก ดังนั้นเมื่อเห็น “โอกาสในการทำรายได้” จึงยากที่จะปฏิเสธ เธอออกจากบ้านเกิดมาเมื่อ 1 ปีก่อนพร้อมกับเงิน 1,000 บาทที่แม่ให้ติดตัว ตามคำแนะนำของเพื่อนว่า “งานในร้านคาราโอเกะนั้นเงินดี” และทางบ้านก็ไม่ได้คัดค้านอะไร นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่ต้องดื่มและพูดคุยกับผู้คน ขณะที่ทางร้านก็ไม่ได้ให้กรอกเอกสารใดๆ และไม่ขอตรวจบัตรประชาชน
พ.ต.ท.ลิขิต ถนอมเชื้อ (Likhit Thanomchua) สมาชิกคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดในหมู่เจ้าของหรือผู้ดูแลสถานบริการว่าเด็กและเยาวชนสามารถทำงานแบบนี้ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วเข้าข่ายการค้าบริการทางเพศ หรือก็คือการค้ามนุษย์ประเภทหนึ่ง แต่การกระทำลักษณะนี้สืบสวนและเอาผิดตามกฎหมายได้ยาก เพราะเจ้าของหรือผู้ดูแลมักให้การว่าไม่เคยให้เด็กหรือเยาวชนเหล่านี้ค้าประเวณี
เช่นเดียวกับ วีรวรรณ มอสบี (Wirawan Mosby) ผู้อำนวยการ HUG Project องค์การภาคประชาสังคม (NGO) ที่เคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ กล่าวว่า ตำรวจรู้ดีว่าเยาวชนเหล่านี้จะไม่ให้ความร่วมมือและท้ายที่สุดอัยการอาจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเพราะหาหลักฐานการค้าประเวณีได้ยาก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเยาวชนรู้สึกถึงความเป็น “ครอบครัว” กับเจ้าของหรือผู้ดูแลสถานบริการ เห็นได้จากการใช้คำว่า “แม่” เรียกเจ้าของหรือผู้ดูแลดังกล่าว
ไม่ต่างจาก รัชพล มณีเหล็ก (Ratchapon Maneelek) ผู้อำนวยการกลุ่มประสานการช่วยเหลือและคุ้มครอง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่กล่าวเช่นกันว่า การปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้เป็นเรื่องยากเมื่อเทียบกับการนำเด็กมาขายบริการทางเพศ ปัจจัยสำคัญคือเจ้าหน้าที่ต้องได้รับความไว้วางใจจากเด็กหรือเยาวชนด้วย เพราะเหยื่อไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตนเองทำอาชีพหรือได้ถูกทำอะไรบ้าง
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยเป็นทั้งทางผ่านและปลายทางสำคัญของเด็กและเยาวชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในประเทศไทยนั้นแม้การขายบริการทางเพศจะเป็นอาชีพผิดกฎหมายแต่ก็มีคนทำอยู่หลายหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นไปโดยความสมัครใจ ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านปัญหาการค้ามนุษย์หลายคนบอกว่าจำนวนไม่น้อยเป็นเด็กและเยาวชน ทั้งนี้คดีค้ามนุษย์ในประเทศไทย 191 คดีที่เกิดขึ้นในปี 2561 ครึ่งหนึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
เกษณี จันทร์ตระกูล (Ketsanee Chantrakul) ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก(ECPAT Foundation) กล่าวว่า รูปแบบการค้าประเวณีเด็กในประเทศไทยเปลี่ยนไป ในอดีตนั้นผู้ซื้อบริการจะพบกับเด็กๆ ณ สถานที่ขายบริการทางเพศโดยตรง แต่ปัจจุบันย้ายไปเริ่มต้นที่บาร์ ผับ ร้านคาราโอเกะ จนถึงการใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ และเมื่อกฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณีเด็กมีความเข้มงวด ก็ได้มีการใช้คำว่าเอ็นเตอร์เทนเนอร์แทนในการอธิบายรูปแบบการทำงาน
รายงานข่าวยังกล่าวถึงเด็กและเยาวชนคนอื่นๆ ที่เคยอยู่ในสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่ได้รับการช่วยเหลือออกมา หลายคนเริ่มมองเห็นอนาคตมากกว่าที่ตนเองเคยคิดไว้ อาทิ แน็ท (Nat) ปัจจุบันอายุ 18 ปี ทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานร่วมกับหญิงสาวรายนี้ ระบุว่า แน็ทอยู่ในศูนย์พักพิงเพียง 1 เดือน หลังได้รับการช่วยเหลือเมื่อ 1 ปีก่อน และเธอรู้ว่าตนเองทำอะไรได้มากกว่างานที่เคยทำ หรือก็คือมองเห็นคุณค่าในตนเอง
ขอบคุณเรื่องจาก : www.reuters.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี