สื่อเยอรมันสงสัย‘ภูเก็ต’จะอึดได้อีกกี่น้ำ ตราบที่ยังไร้นทท.ต่างชาติเพราะ‘ไทย’ปิดประเทศ
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 สำนักข่าว Deutsche Welle ของเยอรมนี เสนอข่าว Coronavirus: How long can Thailand survive without foreign tourism? ตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจะอดทนไปได้อีกนานเท่าใดภายใต้มาตรการปิดประเทศไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถูกใช้เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากภายนอก โดยยกตัวอย่าง เกาะภูเก็ต (Phuket) จังหวัดทางภาคใต้ของไทย ผู้ประกอบการเล่าว่า ไม่มีลูกค้าเลยนับตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. 2563 ที่ทางการไทยเริ่มล็อกดาวน์อย่างจริงจัง และกำลังเผชิญความยากลำบากทางการเงิน
ข้อมูลเมื่อปี 2559 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศไทย พบว่า ชาวเยอรมันเดินทางไปเยือนเกาะภูเก็ตมากเป็นอันดับ 4 รองจีนชาวจีน รัสเซียและออสเตรเลีย ขณะที่ โธมัส มูก (Thomas Moog) เจ้าของร้านอาหารเยอรมันและบริการนำเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ยอมรับว่า วันนี้ไม่มั่นใจในอนาคต ตนอาศัยอยู่ในประเทศไทยมา 20 ปี วิกฤติครั้งนี้รุนแรงกว่าเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึมามิซัดถล่มเกาะภูเก็ตเมื่อปี 2547 ครั้งนั้นเมื่อคลื่นพัดผ่านไปผู้ประกอบการก็เก็บกวาดซ่อมแซมร้านเพื่อกลับมาเปิดใหม่ แต่ครั้งนี้ไม่รู้ว่าเมื่อไรเหตุการณ์จะคลี่คลายลง
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ในปี 2562 มีผู้เดินทางไปเยือน จ.ภูเก็ต ราว 14 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติถึง 10 ล้านคน อนึ่ง เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลไทยมีแนวคิดยกเลิกการปิดประเทศ มูก เป็นคนหนึ่งที่หวังว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจบนเกาะภูเก็ตฟื้นตัวดีขึ้น เพราะแม้จะมีการท่องเที่ยวจากชาวไทยด้วยกัน แต่เม็ดเงินนั้นไม่อาจชดเชยได้กับรายได้ที่สูญเสียไปเมื่อไร้นักท่องเที่ยวต่างชาติ
นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม (Bhummikitti Ruktaengam) นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า แม้จะมีความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่สถานการณ์การท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ก็ยังน่าเป็นห่วง โดยผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะภูเก็ต ขาดทุนรวมกันถึง 1.8 แสนล้านบาท ดังนั้นความท้าทายคือทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าจะรอดพ้นวิกฤติ
ประเทศไทยนั้นด้านหนึ่งประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้ติดเชื้อเพียงประมาณ 3,500 คน และเสียชีวิตเพียง 58 คน แต่อีกด้านหนึ่ง มาตรการล็อกดาวน์รวมถึงการปิดประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญอย่างรุนแรง โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติเดินทางไปเยือนประเทศไทยถึง 39.8 ล้านคน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ระบุว่า ในปีดังกล่าวไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท
ส่วนนายดอน นาครทรรพ (Don Nakornthab) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 ว่า ในปี 2563 น่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น และอาจจะน้อยลงได้อีก
ขณะที่ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ (Juthathip Jongwanich) อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเตรียมแผนรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างน้อยก็ให้ไปในบางพื้นที่ที่สามารถควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาไม่แล้วการท่องเที่ยวไทยคงอยู่ไม่รอดพ้นสิ้นปี 2563 แน่นอน
กลับมาที่ จ.ภูเก็ต มีรายงานว่า รัฐบาลไทยมีแผนจะให้ชาวต่างชาติเดินทางมาที่เกาะภูเก็ต แต่ต้องเป็นการพักระยะยาวอย่างน้อย 30 วัน โดย 14 วันแรกเป็นการกักตัวในโรงแรมเพื่อตรวจคัดกรองว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ หากครบ 14 วันแล้วไม่พบเชื้อ วันที่เหลือหลังจากนั้นจะสามารถไปท่องเที่ยวในที่อื่น ๆ ได้ ภูมิกิตติ์ ระบุว่า รัฐบาลไทยได้พูดถึงนโยบาย “5T” ประกอบด้วย Target (ระบุเป้าหมาย) Testing (ตรวจคัดกรอง) Tracing (ติดตาม) Treatment (รักษา) และ Trust (ไว้วางใจ) เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ถึงกระนั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกาะภูเก็ตจะได้รับอนุญาตให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เมื่อใด แม้จะมีรายงานจากสื่อมวลชนในประเทศไทยว่าน่าจะเป็นวันที่ 1 ต.ค. 2563 ก็ตาม ภูมิกิตติ์ ย้ำว่า จ.ภูเก็ต จะกลับมาเปิดรับชาวต่างชาติอีกครั้งเมื่อพร้อม พร้อมเตือนว่าต้องระวังไม่ให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ภูเก็ตช้ำ” และบาดเจ็บจากการเปิดเมืองครั้งใหม่ที่ผิดพลาด
รายงานข่าวทิ้งท้ายด้วยความเห็นของ มูก ที่มองว่า ภูเก็ตโมเดล น่าจะดึงดูดความสนใจจากชาวยุโรปกลุ่มสแกนดิเนเวีย (สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์และฟินแลนด์-ผู้แปล) วัยเกษียณ รวมถึงชาวเยอรมัน ที่ต้องการหนีจากฤดูหนาวในบ้านเกิด แต่ก็ยังสงสัยเรื่องมาตรการกักตัว 14 วัน แต่ ภูมิกิตติ์ ก็ยังหวังว่า นักท่องเที่ยวจะสนใจมาเยือน จ.ภูเก็ต แม้จะมีเงื่อนไขต้องกักตัว 14 วันก็ตาม
ขอบคุณเรื่องจาก https://www.dw.com/en/coronavirus-how-long-can-thailand-survive-without-foreign-tourism/a-54802819