16 ก.ค. 2568 เว็บไซต์นิตยสาร Tempo ของอินโดนีเซีย รายงานข่าว Thailand Delays Tourist Entry Fee Implementation ระบุว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตัดสินใจเลื่อนการเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน (Entry Fee)” หรือค่าธรรมเนียมเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งจะต้องจ่ายเป็นเงิน 150,000 รูเปียห์ หรือ 300 บาทต่อคน ออกไปก่อน แม้จะมีการพูดถึงกันมานานแล้วและเคยเตรียมจะประกาศใช้ภายในปี 2568 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนประเทศไทยลดลง
จักรพล ตั้งสุทธิธรรม (Chakrapol Tangsutthitham) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า สรวงศ์ เทียนทอง (Sorawong Thienthon) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มองว่าการบังคับใช้ค่าเหยียบแผ่นดินในเวลานี้ยังไม่เหมาะสม โดยต้องรอประเมินความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงฤดูท่องเที่ยว (PeakSeason) ที่จะมาถึงในไตรมาสที่ 4 ของปี
“กระทรวงฯ ยังต้องการเวลาเพิ่มเติมในการศึกษารายละเอียดของค่าธรรมเนียม รวมถึงการกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากรูปแบบการเดินทางทั้งทางบก ทางทะเล ทางรถไฟ และทางอากาศ คาดว่าค่าธรรมเนียมเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวจะเริ่มใช้ในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของปี 2569” จักรพล กล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ข้อมูล ณ ต้นเดือน ก.ค. 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านคน ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 ซึ่งการชะลอตัวนี้ก่อให้เกิดความกังวลในผู้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั้งหมดของไทย
ย้อนไปในปี 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทยเคยกำหนดจำนวนเงินค่าเหยียบแผ่นดินไว้ที่ 300 บาท หรือประมาณ 150,000 รูเปียห์ สำหรับผู้โดยสารขาเข้าทางอากาศ และ 150 บาท หรือประมาณ 75,000 รูเปียห์ สำหรับผู้โดยสารขาเข้าทางบกหรือทางทะเล รายได้จากค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะถูกนำไปจัดสรรให้กับโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวและคุ้มครองนักท่องเที่ยว
ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ตั้งแต่ความงามทางธรรมชาติ ภูเขา หาดทรายขาว วัฒนธรรมอันอบอุ่น ไปจนถึงแหล่งช้อปปิ้งและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนเดินทางไปเยือน อนึ่ง นอกจากการเลื่อนการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินออกไปจนถึงปี 2569 แล้ว ประเทศไทยยังคงพัฒนาบริการต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือการเปิดตัวระบบเข้าเมืองดิจิทัล ซึ่งมาแทนที่แบบฟอร์มตรวจคนเข้าเมือง ตม.6 เดิม
ในเดือน พ.ค. 2568 บัตรขาเข้าดิจิทัล (TDAC) ของประเทศไทย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่สนามบินและด่านชายแดน พร้อมมอบประสบการณ์การเดินทางที่ราบรื่นยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่วางแผนจะเดินทางไปเยือนประเทศไทยสามารถกรอกแบบฟอร์ม TDAC ได้ล่วงหน้า 3 วันก่อนเดินทางมาถึง นักท่องเที่ยวต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ รวมถึงเอกสารการเดินทาง รายละเอียดหนังสือเดินทาง ข้อมูลส่วนบุคคล แผนการเดินทาง ที่พักในประเทศไทย และสถานะสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ขอบคุณเรื่องจาก
https://en.tempo.co/read/2028789/thailand-delays-tourist-entry-fee-implementation
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี