เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ France24 ของฝรั่งเศส เสนอข่าว Top WHO, US scientists say Omicron no worse than other virus variants อ้างความเห็นผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ที่ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายโอไมครอน ไม่น่าอันตรายไปกว่าไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายอื่นๆ โดย ไมค์ ไรอัน (Mike Ryan) ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นยังไม่พบว่าโควิดสายโอไมครอนมีความรุนแรงมากขึ้น และในความเป็นจริง หากมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็มักจะเป็นการลดความรุนแรงลง
นอกจากนี้ แม้จะสามารถระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณที่ชี้ว่า ไวรัสโอไมครอนสามารถหลบหลีกการป้องกันของวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่นั้นสามารถลดอาการป่วยหนักถึงขั้นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ แต่ก็ยอมรับว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนอาจลดลงเมื่อเผชิญกับไวรัสโอไมครอน เนื่องจากสายพันธุ์นี้พบการกลายพันธุ์ในโปรตีนหนามถึง 30 จุด ทำให้มันบุกรุกเซลล์ได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ แอนโธนี เฟาซี (Anthony Fauci) นักระบาดวิทยาอาวุโสที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า ไวรัสสายโอไมครอนระบาดได้ง่ายกว่าสายเดลตาที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกขณะนี้อย่างชัดเจน แต่มันก็เกือบที่จะมองเห็นได้ว่าไม่ได้มีความรุนแรงไปกว่าสายเดลตา และยังมีความเห็นว่าอาจจะรุนแรงน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจฟันธงได้ เพราะกลุ่มประชากรที่กำลังติดตามอยู่นั้นอายุยังไม่มาก ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะต้องเข้าโรงพยาบาล ทั้งนี้ อาการป่วยรุนแรงอาจใช้เวลาพัฒนา ซึ่งเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องรอดูหลังจากนั้นว่าระดับความรุนแรงจะเป็นอย่างไร
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า การตรวจพบไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายโอไมครอน ในเดือน พ.ย. 2564 ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ได้ทำให้ชาวโลกกลับมากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดอีกครั้ง อาทิ บรรดารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ประชุมกันเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 เพื่อหาวิธีรับมือร่วมกัน ขณะที่ นอร์เวย์ จ่อยกระดับมาตรการคุมเข้มเพื่อรับมือจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ภายหลังเกิดกรณีคลัสเตอร์งานเลี้ยงในกรุงออสโล แม้ผู้ร่วมงานจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็พบผู้ติดเชื้อนับสิบคน
ด้าน สวีเดน ประเทศเพื่อนบ้านของนอร์เวย์ ประกาศเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 เตรียมเปิดเผยแผนรับมือโควิด-19 ส่วน โปแลนด์ ออกมาตรการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในศาสนสถาน ร้านอาหารและโรงมหรสพ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังเตรียมฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข บุคลากรด้านการศึกษา และเจ้าหน้าที่ในกองทัพ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า แม้ข้อมูลของไวรัสโอไมครอนจะเป็นไปในเชิงบวก จะทำให้ผู้คนพอยิ้มออกได้บ้าง เนื่องจากที่ผ่านมา ในภาคเศรษฐกิจกังวลผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด และการเกิดขึ้นของไวรัสกลายพันธุ์ได้เน้นย้ำว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด โควิด-19 นั้นคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปแล้วกว่า 5.2 ล้านคน นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อปลายปี 2562 ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เรียกร้องให้ผู้คนฉีดวัคซีนและเคร่งครัดมาตรการเว้นระยะห่าง เพราะเป็นวิธีต่อสู้กับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่อีกด้านหนึ่ง ข้อกำหนดการฉีดวัคซีนได้นำไปสู่การต่อต้านในหลายประเทศ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งข้อมูลที่เผยแพร่กันแบบผิดๆ ทฤษฎีสมคบคิด ตลอดจนผลกระทบด้านเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ที่มาจากคำสั่งดังกล่าว อาทิ ที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ประชาชนกว่า 4,000 คน ชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลกำหนดแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับบุคลากรสาธารณสุขในต้นปี 2565 โดยผู้ประท้วงตั้งคำถามว่า วัคซีนจำเป็นกับทุกคน แต่เหตุใดจึงมีแต่แผนสำหรับบุคลากรสาธารณสุข
ขอบคุณเรื่องจาก : https://www.france24.com/en/live-news/20211208-top-who-us-scientists-say-omicron-no-worse-than-other-virus-variants
- 006